
ปัจจุบันยังคงมีเด็กและเยาวชนอีกมากมายที่ถูกละเลย ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความรุนแรงต่อเด็ก ความไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงการที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่นานาชาติต่างให้ความสนใจ ในปี พ.ศ.2532 จึงได้เกิดเป็น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทั้งหมด 54 ข้อ (อ่านฉบับเต็ม) โดยมีใจความสำคัญเรื่องสิทธิเด็ก 4 ด้าน (4 main pillars) ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (the right to survival), สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (the right to protection), สิทธิในการพัฒนา (the right to development) และสิทธิในการมีส่วนร่วม (the right to participation) โดยทั้งหมดนี้จะต้องตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง
อนุสัญญาฯ นี้เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดถึง 196 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศไทยเป็น 1 ในภาคีสมาชิก และมีผลบังคับใช้ในฐานะที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ อนึ่ง สิทธิเด็กนั้นเป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด จึงไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอนหรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็กหรือละเมิดสิทธิของเด็กได้ ดังนั้น ในฐานะ "ผู้ใหญ่" เราทุกคนจึงควรตระหนักถึง "สิทธิเด็ก" เป็นสำคัญ
ทำความรู้จักกับสิทธิเด็ก 4 ด้าน
1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival)
คือสิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการสาธารณสุข โภชนาการ และความเป็นอยู่ที่ได้มาตรฐาน
2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)
คือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิดและการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ การใช้สารเสพติด และการค้ามนุษย์
3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development)
คือสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐานทุกรูปแบบ การส่งเสริมเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงโอกาสในการเติบโตอย่างสามารถพึ่งพาตนเองได้
4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation)
คือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี การได้รับข้อมูลข่าวสาร การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง

มูลนิธิเด็กโสสะฯ
เราให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเด็กกำพร้า ไร้ที่พึ่งพิง และเด็กที่เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้ง โดยอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเด็กเป็นสำคัญ เด็กทุกคนจะถูกเลี้ยงดูด้วยความรักความอบอุ่นภายในครอบครัวทดแทน เติบโตมีพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสม ได้รับการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ และมีอาชีพเลี้ยงดูตนเองเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

อ้างอิง
ยูนิเซฟ(UNICEF)