ก่อนจะพูดถึงเรื่อง สิทธิเด็ก คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรามักจะชอบดู ชอบโพสต์ ชอบแชร์ภาพหรือคลิปเด็กๆ ที่ดูน่ารัก น่าเอ็นดู ผ่านทางสื่อออนไลน์ในช่องทางต่างๆ เพราะความน่ารักเหล่านี้จะช่วยเยียวยาจิตใจเราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ ที่คงอดใจไม่ไหวอยากจะโพสต์อวดความน่ารักของลูก ซึ่งหากเป็นภาพที่ดูน่ารักเหมาะสมก็คงไม่มีอะไรที่ต้องกังวลมากนัก แต่บางครั้ง ภาพเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่อย่างเรามองแล้วน่ารัก ตลกขบขัน อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายเด็กๆ ได้เช่นกันค่ะ เพราะทุกสิ่งที่ถูกโพสต์ลงทางออนไลน์ คือ ร่องรอยดิจิทัล (Digital footprint) ที่แม้เวลาจะผ่านไปอีก 30-40 ปีข้างหน้า เราก็ยังสามารถค้นหาภาพดังกล่าวได้เจอ
ดังนั้น การจะโพสต์ภาพหรือคลิปใดๆ ควรคำนึงให้ถี่ถ้วนถึงผลเสียที่อาจตามมาทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงความรู้สึกของเด็กๆ เมื่อพวกเขาได้พบเห็นขณะเติบโตขึ้นด้วยค่ะ โดยนอกจากในเรื่องของความรู้สึกแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราควรทำความเข้าใจคือ สิทธิส่วนบุคคล และ สิทธิเด็ก
ในประเทศไทยมี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก หลายข้อที่ถูกบังคับใช้ ได้แก่
“เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับความเป็นส่วนตัว กฎหมายต้องให้ความคุ้มครองเด็กจากการถูกละเมิดชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว หรือการดูหมิ่น เด็กมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์ทุกรูปแบบ แม้จะไม่มีกล่าวไว้อย่างเจาะจงในอนุสัญญาฯ นี้”
พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
“มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”
ซึ่งหมายรวมถึงเด็กด้วย “มาตรา 4(1) ไม่บังคับเพื่อใช้ในประโยชน์ส่วนตน หรือกิจกรรมในครอบครัว ถือเป็นใช้เพื่อครอบครัว และไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ แต่ถ้ารูปภาพดังกล่าวสร้างความเดือดร้อน สร้างความเข้าใจผิด หรือพาดพิงผู้อยู่ในภาพ หรือผู้อื่น ก็ยังมีกฎหมายอื่นคาบเกี่ยวกันอยู่ อาจถูกฟ้องร้องได้ กล่าวได้ว่ายังถ่ายภาพได้ และต้องอย่าทำให้ผู้อยู่ในภาพเดือดร้อน”
ภาพถ่ายที่ไม่ละเมิด สิทธิเด็ก รูปที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรโพสต์หรือแชร์
• ภาพถ่ายโรงเรียนของเด็ก หรือระบุตำแหน่งให้พื้นที่สาธารณะทราบตลอดเวลา อาจกลายเป็นภัยที่ทำให้ผู้ไม่หวังดีทำร้ายเด็กได้
• ภาพถ่ายเด็กตอนอาบน้ำ แม้จะดูน่ารักน่าชัง แต่ความเป็นจริงในสังคมเรามีผู้คนหลากหลายประเภท ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นผู้ร้ายโรคจิตที่ชอบการทำอนาจารเด็ก ทำให้เด็กตกอยู่ในอันตรายได้
• ภาพถ่ายที่เด็กไม่อยากให้แชร์ เพราะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวเด็ก ส่งผลกระทบต่อจิตใจได้
• ภาพถ่ายที่ดูแล้วทำให้รู้สึกว่าเด็กๆ ไม่ปลอดภัย เช่น ภาพเด็กนั่งตักพ่อแม่ขณะขับรถ ซึ่งเป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กลายเป็นความปกติในสังคม เนื่องจากแท้จริงแล้วเป็นความประมาทที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
โพสต์ภาพอย่างไร ให้น่ารักและปลอดภัย ไม่ละเมิด สิทธิเด็ก
• เด็กหลายคนที่ชอบความเป็นส่วนตัวและไม่ถูกเป็นที่จับจ้องสนใจ ขณะที่เด็กบางคนชอบแสดงออก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ควรเคารพในชีวิตส่วนตัวของเด็ก มากกว่าการบังคับถ่ายภาพ/คลิป เพื่อโพสต์เรียกยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่างๆ โดยเด็กไม่ยินยอม
• ไม่บังคับให้เด็กทำตัวน่ารัก เรียบร้อย เพื่อการถ่ายภาพ/คลิป เพราะการที่เด็กมีความรู้สึกเหนื่อย ดื้อ งอแง คือธรรมชาติที่ควรปล่อยให้พวกเขาได้เรียนรู้และเติบโตตามวัยที่เหมาะสม การบังคับให้เด็กทำตามที่เราต้องการ อาจทำให้เด็กสูญเสียความเป็นตัวเอง กลายเป็นปัญหาตามมาด้านการปิดกั้นพัฒนาการของเด็ก
• กรณีเด็กที่เริ่มมีความคิด ตัดสินใจเองได้ ควรสอบถามความยินยอมจากเด็กทุกครั้ง แต่อีกทางหนึ่งก็ควรคัดกรองความเหมาะสมที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเขาในอนาคตด้วย คำนึงถึงความรู้สึกของเด็กเป็นสำคัญ ว่าเมื่อเขาเติบโตขึ้นมาจะรู้สึกอย่างไรกับภาพ หรือคลิปนี้ เนื่องจากวัยเด็กในขณะนั้นอาจยังไม่มีวุฒิภาวะที่มากพอในการตัดสินใจ
• กรณีเด็กเล็ก แบเบาะ การลงภาพต่างๆ ยิ่งจำเป็นต้อง คัดกรองความเหมาะสมให้มาก ไม่ควรโพสต์ภาพ/คลิปที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกอับอายเมื่อเขาได้เห็นตอนโตขึ้น เช่น ภาพอวัยวะที่เปิดเผยเกินไป ภาพการถูกล้อเลียน ลงโทษ หน้าตาตลก เป็นต้น
• การเผยแพร่ภาพส่วนตัวในชีวิตประจำวัน ควรรักษาข้อมูลความเป็นส่วนตัว และคัดกรองภาพ/คลิป ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็ก เช่น ภาพเด็กถูกดุด่า ลงโทษ การล้อเลียน ชุดที่ไม่เรียบร้อยหรือเปิดเผยจนเกินไป เป็นต้น ควรให้ความใส่ใจและปลอบโยนจิตใจเด็กมากกว่าการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพขณะที่เด็กกำลังร้องไห้ เจ็บปวด เพราะแม้จะดูเป็นเรื่องตลก น่าเอ็นดู แต่กับเด็กๆ อาจเกิดเป็นความอับอาย หรือบาดแผลในใจของเขาได้
• ชื่อโรงเรียน ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ ข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ควรเก็บเป็นความลับ โดยเฉพาะการเช็กอินสถานที่แบบเรียลไทม์ หรือแสดงความเคลื่อนไหวของเด็กตลอดเวลา เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้อาจกลายเป็นข้อมูลชั้นดีให้กับมิจฉาชีพ หรือไม่หวังดี ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก เช่น การสะกดรอยตาม การลักพาตัวเด็ก เป็นต้น ที่สำคัญอย่าลืมสอนให้ลูกรักป้องกันตนเองจากคนแปลกหน้า
มีหลายกรณีที่เด็กถูกคุกคามผ่านทางโซเชียล ซึ่งผู้ริเริ่มการกระทำก็คือคนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่นั่นเอง เช่น กรณีที่เยาวชนหญิงถูกพ่อแม่โพสต์ภาพลงทางทวิตเตอร์จนถูกคุกคามทางเพศ เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกทำร้าย เราจึงควรให้ความใส่ใจกับสิ่งที่ไม่ควรกระทำต่อเด็ก และสิทธิเด็ก มากกว่าการแซะในโลกโซเชียลกันว่าเป็นความเรื่องมากน่ารำคาญค่ะ
มูลนิธิเด็กโสสะฯ กับ สิทธิเด็ก
นอกจากการเลี้ยงดูเด็กภายใต้ความมั่นคง ปลอดภัย และการเสริมสร้างพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามวัยแล้ว มูลนิธิเด็กโสสะฯ ยังให้ความสำคัญกับการเคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กเป็นสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่และเด็กทุกคนในมูลนิธิฯ จะผ่านการให้ความยินยอม (Consent) โดยเซ็นหนังสือมอบสิทธิ์ในการใช้ข้อมูลภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ เพื่อนำมาเผยแพร่ทางสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์มูลนิธิฯ ภายใต้การไตร่ตรองถึงความเหมาะสม ไม่เปิดเผยชื่อ-นามสกุลจริง ยกเว้นพิจารณาเป็นบางกรณี เช่น การให้เครดิตในผลงาน รางวัล, การแสดงความยินดีในวาระจบการศึกษา เป็นต้น และการเคารพในความเป็นส่วนตัวของเด็กๆ ทุกคน โดยไม่บังคับเพื่อฝืนธรรมชาติของเด็ก
• เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ผู้ลงนามยินยอม คือ ผู้อำนวยการหมู่บ้านเด็กโสสะ ในฐานะผู้ปกครอง
• เด็กอายุ 13-18 ปี ผู้ลงนามยินยอม คือ ตนเอง และผู้อำนวยการหมู่บ้านเด็กโสสะ
• เด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป ลงนามยินยอมด้วยตนเอง
• เด็กที่เติบโตออกจากการดูแลของหมู่บ้านเด็กโสสะไปใช้ชีวิตด้วยตนเองแล้ว สามารถลงนามแจ้งเพิกถอนสิทธินี้ได้ โดยปัจจุบันยังไม่มีเด็กๆ ที่ติดต่อแจ้งขอเพิกถอนสิทธิ
ซึ่งทุกปี เด็กและเยาวชนทุกคนในมูลนิธิเด็กโสสะฯ จะได้รับการอบรมเรื่องสิทธิเด็กและนโยบายคุ้มครองเด็ก เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการแทรกความรู้เรื่องอื่นๆ อาทิ การอบรมเรื่องรู้เท่าทันภัยออนไลน์ อีกด้วยค่ะ
อ้างอิง
ภาพเด็กที่ไม่เด็ก! "สิทธิเด็ก" อยู่ไหน? เมื่อมี Digital Footprint บันทึก
เตือนโพสต์รูปลูกลงโซเชียลฯ อาจเกิดผลเสียที่คาดไม่ถึง
ผนึกกำลังปกป้องสิทธิเด็กจากการถ่ายภาพ