Advocacy

เรามุ่งผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่สูญเสีย และกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการสูญเสียการดูแลจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

1. งานรณรงค์ด้านเด็ก หรือ Advocacy คืออะไร

งาน Advocacy เป็นงานเชิงกลยุทธ์ ที่ประกอบไปด้วยกระบวนการ และกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ นโยบาย ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย  โดยมูลนิธิเด็กโสสะฯ มีจุดมุ่งหมายในการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่สูญเสียและกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการสูญเสียการดูแลจากพ่อแม่ผู้ปกครองให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมตามความสามารถ การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี หรือเข้ามามีบทบาทในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง ฯลฯ  เราคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนามาตรฐานการทำงานภายในองค์กร รวมถึงการร่วมผลักดันนโยบายกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ

มูลนิธิเด็กโสสะฯ กับงานผลัดดันนโยบายด้านเด็ก
ดาวน์โหลด/อ่านเพิ่ม

2. งานรณรงค์ด้านเด็กของมูลนิธิเด็กโสสะฯ กับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

(The Sustainable Development Goals : SDGs)

เรามุ่งทำงานเพื่อเด็กกลุ่มที่สูญเสีย รวมถึงกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญเสียการดูแลจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง มีโอกาสสูงที่จะเผชิญความไม่เท่าเทียม และไม่ได้รับการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนอันเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตในวัยเด็ก ซึ่งจะส่งผลต่อไปในอนาคต   โดยเป้าหมาย SDGs เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันในงานของเรา เพื่อที่เด็กๆ จะได้มีวัยเด็กที่มีคุณภาพต่อไป

ขจัดความยากจน

  • เป็นสาเหตุหลักที่เด็กถูกทอดทิ้ง

  • นำไปสู่ปัญหาการหย่าร้าง และครอบครัวแตกแยก

  • เป็นปัญหาที่สร้างความเหลื่อมล้ำระยะยาว

สิ่งที่เราดำเนินงาน

โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว

  • ที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้และลดรายจ่ยให้กับครอบครัวในชุมชน ลดการย้ายถิ่น
  • นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาความสามารถให้ครอบครัวชุมชน ผู้นำชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นในการสร้างความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้

การศึกษาเท่าเทียมและทั่วถึง

  • การขาดการดูแลจากผู้ปกครองส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษาโดยตรง

สิ่งที่เราดำเนินงาน

งานและบริการด้านการศึกษาของโสสะฯ

  • เต็กโสสะทุกคนได้รับการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนสำเร็จการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ
  • มีการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า
  • ส่งเสริมเด็กที่มีศักยภาพสูงให้ได้รับโอกาสพัฒนาความสามารถตามความถนัด
  • มีสวัสดิการสำหรับเด็กอนุบาลที่ครอบครัวประสบปัญหารายได้ในชุมชน

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

  • การมีงานทำเป็นปัจจัยป้องกันที่สำคัญของปัญหาครอบครัวแตกแยก และการทอดทิ้งเด็ก

สิ่งที่เราดำเนินงาน

  • มูลนิธิเด็กโสสะฯ ส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนจนถึงระดับอุดมศึกษา และยังมีโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ
  • โครงการฝึกอาชีพให้ครอบครัวในชุมชน และการจัดทำบัญชีครัวเรือน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว

ลดความเหลื่อมล้ำ

  • เด็กที่ขาดการเลี้ยงดูและการปกป้องคุ้มครอง มักจะถูกละเมิดสิทธิ์ และไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ

  สิ่งที่เราดำเนินงาน

  • การดำเนินงานด้านการรณรงค์ (Advocacy) ในการผลักดันกฎหมาย นโยบายและหลักปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็ก พัฒนากลไกการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับเด็กที่สูญเสียการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ผู้ปกครอง
  • มีการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ

สังคมเป็นสุข

  • ความรุนแรงเป็นสาเหตุหลักที่เด็กถูกแยกออกจากครอบครัว
  • เด็กที่ขาดการดูแลหรือถูกใช้ความรุนแรง มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นผู้ใช้ความรุนแรงต่อไปในอนาคต

สิ่งที่เราดำเนินงาน

  • มีการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในเรื่องสิทธิเด็กอย่างต่อเนื่อง
  • มีกลไกและเครื่องมือการปกป้องคุ้มครองเต็ก (Child Safeguarding)
  • ให้การอบรมและรณรงค์ในเรื่องความรุนแรงและสิทธิเด็ก

 

 

 

 

 

 

 

 

3. กิจกรรมรณรงค์ด้านเด็กของมูลนิธิเด็กโสสะฯ มีอะไรบ้าง

3.1 พัฒนามาตรฐานและผลักดันรูปแบบการเลี้ยงดู “ครอบครัวทดแทน” หรือ Family-Like Care ให้มีมาตรฐานสากลและมีกฎหมายรองรับ เพื่อขยายทางเลือกการเลี้ยงดูทดแทนให้กับเด็กที่ขาดการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้สามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพที่เอื้อต่อพัฒนาการของเด็ก และเติบโตไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

3.2 สร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ร่วมกันส่งเสริมและรณรงค์ในประเด็นสิทธิเด็ก และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่ต้องการการเลี้ยงดูทดแทน

3.3 การเป็นแนวร่วมกับเยาวชน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิและพัฒนาศักยภาพของตนเอง

3.1 การเผยแพร่ “การเลี้ยงดูทดแทน” (Family-like care) ให้เป็นที่รู้จัก

คือการเลี้ยงดูเด็กโดยผู้ดูแลที่ไม่ใช่พ่อแม่โดยกำเนิด ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 คืนเป็นต้นไปจนถึงระยะยาว มีทั้งรูปแบบทางการและแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งในปัจจุบันมีรูปแบบที่รองรับโดยกฎหมายไทยเพียง 2 รูปแบบ ได้แก่ สถานสงเคราะห์ และครอบครัวอุปถัมภ์  โดยตามแนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก แห่งสหประชาชาติ (the UN Guidelines of Alternative Care) นั้น การเลี้ยงดูทดแทนควรมีหลากหลายรูปแบบ เพื่อรองรับลักษณะปัญหาและความต้องการการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันไป  ทั้งนี้ “ครอบครัวทดแทน” หรือ Family-like Care ซึ่งมูลนิธิเด็กโสสะฯ ดำเนินการอยู่นั้น ถือว่าเป็นรูปแบบเฉพาะ ที่มุ่งเน้นให้การเลี้ยงดูเด็กที่ “สูญเสียการเลี้ยงดู” จากพ่อแม่เป็นหลัก

เป็นรูปแบบการเลี้ยงดูทดแทนที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวให้กับเด็กที่สูญเสียการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลกับเด็ก และสายสัมพันธ์พี่น้องโดยมีผู้ดูแลระยะยาว หรือ ที่เรารู้จักอีกในนามว่า “แม่โสสะ” ซึ่งเป็นสตรีโสด หรือหม้ายไม่มีพันธะผูกพันทางด้านครอบครัว ซึ่งจะผ่านการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างน้อย 2 ปี ให้การดูแลเด็กตลอด 24 ชั่วโมง ในลักษณะกลุ่มเล็ก (ประมาณ 6-8 คน ต่อบ้าน 1 หลัง) โดยมีลักษณะสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กแห่งสหประชาชาติในหมวด Residential Care  โดยแต่ละบ้านจะมีเด็กคละเพศ คละวัย ได้รับการเลี้ยงดูด้วยการพัฒนาสายสัมพันธ์ระยะยาวในลักษณะพี่น้องชายหญิงมาตั้งแต่เด็ก คอยช่วยเหลือดูแลกัน เป็นธรรมชาติของสายสัมพันธ์ที่เอื้อถึงกันในครอบครัว ภายในบ้านจะมีพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่ทำกิจกรรมของครอบครัว เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ  มีสภาพแวดล้อมภายนอกในลักษณะชุมชนหมู่บ้านเด็ก ที่มีการดูแลรักษาบรรยากาศให้เอื้อต่อพัฒนาการเด็ก มีสนามเด็กเล่น ลานกิจกรรม สนามกีฬา ฯลฯ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิชาการ ประเพณี ศาสนา และกิจกรรมพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และเติบโตต่อเด็กในระยะยาว

  • สายสัมพันธ์ครอบครัว – เด็กโสสะ เติบโตมาจากผู้ดูแลคนเดิมระยะยาว ที่เรียกว่า “แม่โสสะ”  พร้อมทั้งพี่น้องที่เติบโตมาในบ้านเดียวกันตั้งแต่เด็ก  สายสัมพันธ์นี้จะคงอยู่ตลอดไป แม้ว่าจะเติบโตออกจากหมู่บ้านเด็กโสสะ ไปแล้วก็ตาม
  • การศึกษาและพัฒนาทักษะสูงสุดตามความสามารถ - เด็กจะได้รับการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ จนถึงระดับปริญญาตรี  นอกจากนี้ มีแผนการพัฒนาทักษะรายบุคคล (Child Development Plan) โดยมีการสอนพิเศษเพื่อเสริมและพัฒนาทักษะตามความสามารถและความสนใจ
  • พื้นที่เรียนรู้การพึ่งพาตนเอง – เราให้ความสำคัญกับการปลูกฝังความสามารถในการพึ่งพาตนเองตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านการฝึกทำกิจวัตรประจำวันกับครอบครัว เช่น ทำอาหาร ทำงานบ้าน ซื้อของและบริหารค่าใช้จ่ายตามงบประมาณที่ได้รับ  ภายใต้นโยบายพิทักษ์สิทธิเด็กที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้การพึ่งพาตนเอง เช่น การไม่รับบริจาคเงินและสิ่งของให้กับเด็กโดยตรง ไม่รับการเลี้ยงอาหารกลางวัน และการให้ความเป็นส่วนตัวในบ้าน เพื่อฝึกให้เด็กไม่เป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว  และเมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น ทางมูลนิธิเด็กโสสะฯ มีโครงการฝึกงานและพัฒนาทักษะการทำงานให้กับเยาวชน เพื่อพัฒนาศักยภาพต่อไปในอนาคต

3.2 การทำงานร่วมกับเครือข่าย / พันธมิตรงานรณรงค์ด้านเด็ก

กลุ่มองค์กรและนักวิชาการที่รวมตัวกันเพื่อผลักดันการนำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทย  โดยมูลนิธิเด็กโสสะฯ อยู่ในกลุ่ม เครือข่ายการเลี้ยงดูทดแทนเด็กในประเทศไทย หรือ Alternative Care Thailand (ACT) ซึ่งเป็นกลุ่มงานที่มุ่งพัฒนาระบบการเลี้ยงดูทดแทนและงานคุ้มครองเด็กในประเทศไทย ให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัยภายใต้การเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมครอบครัวที่มีคุณภาพ

อ้างอิง:
https://crccoalitionthailand.wordpress.com
https://alternativecarethailand.com

เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ โดยเจ้าหน้าที่ผลักดันนโยบายและคุ้มครองเด็ก ได้เข้าร่วมประชุม ACT Coalition Advance กับกลุ่มคณะทำงานด้านการเลี้ยงดูทดแทนและงานคุ้มครองเด็กในประเทศไทย หรือ Alternative Care Thailand (ACT) ประกอบด้วยองค์กรภาคีเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยงดูทดแทนเด็กในประเทศไทยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนงานของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ บนพื้นฐานของการให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่  ด้วยการดำเนินงานใน 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการเลี้ยงดูทดแทน ได้แก่

  1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนในการเลี้ยงดูและคุ้มครองเด็กได้อย่างเหมาะสม
  2. การบูรณาการกลไกและทรัพยากรเพื่ออำนวยให้เด็กได้อยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่
  3. การจัดทำมาตรฐาน พัฒนาเครื่องมือ และเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานด้านการเลี้ยงดูทดแทนโดยยึดเอาประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
  4. การสนับสนุนการดำเนินงาน การกำกับติดตาม และประเมินผลการเลี้ยงดูทดแทนที่เป็นทางการ
  5. การพัฒนาฐานข้อมูล สร้างองค์ความรู้ และงานวิจัยเพื่อกำหนดนโยบาย


สำหรับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย ประกอบด้วยองค์กรและหน่วยงานด้านเด็ก อาทิ ยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand), มูลนิธิวันสกาย (One Sky Foundation), มูลนิธิสายเด็ก 1387 (Childline),  สหทัยมูลนิธิ (Holt Sahathai Foundation), มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (Save the Children Thailand), มูลนิธิคริสเตียนเพื่อเด็กพิการ (CCD), มูลนิธิ Care for Children, มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (Charoen Pokphand for Rural Lives's Development Foundation  หรือ CPF), มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา (Step Ahead Foundation), มูลนิธิเปี่ยมเมตต์ (Global Child Advocates), มูลนิธิวัฒนเสรี (The Freedom Story), มูลนิธิสยาม-แคร์ (Siam-Care Foundation), มูลนิธิเพื่อนบ้านแห่งความหวัง (Urban Neighbours of Hope), มูลนิธิใจศรัทธา (Faithful Heart Foundation) และมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ (SOS Children’s Villages Thailand)

Alternative Care Thailand (ACT) Alternative Care Thailand (ACT)

เจ้าหน้าที่ผลักดันนโยบายและคุ้มครองเด็ก จากมูลนิธิเด็กโสสะฯ ได้นำเสนอการเลี้ยงดูในรูปแบบครอบครัวทดแทน หรือ SOS Family-like Care กับที่ประชุม Alternative Care Thailand (ACT)

เป็นกลุ่มองค์กรทำงานด้านเด็ก ที่มีจุดหมายร่วมกันในการป้องกันและยุติการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนผ่านงานรณรงค์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งในปัจจุบันประกอบไปด้วย 6 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ , มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย , Plan International Thailand , Save the children Thailand , Terre des Hommes และ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

3.3 จัดกิจกรรมรณรงค์ด้านเด็ก  เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงดูทดแทน

การเสริมพลังเยาวชนในครอบครัวโสสะ

เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการแสดงออกทางความคิดและการได้รับการรับฟัง  มูลนิธิเด็กโสสะฯ เราพยายามสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ฝึกสะท้อนความรู้สึกและความต้องการของตนเอง ฝึกการมีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นปัญหา ฝึกคิดหาทางออกและเสนอข้อเสนอแนะ รวมถึงการได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานในชุมชน หรือ ผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตนเอง

Displaying results 1-3 (of 16)
 |<  < 1 - 2 - 3 - 4 - 5 - 6  >  >| 
More