มิถุนายน 4 2568
เด็ก LGBTQ+ เริ่มเข้าใจตัวเองเมื่อไหร่? สำคัญที่ใครอยู่ข้างเขา
เมื่อพูดถึงการยอมรับตัวตนทางเพศ คำถามที่มักเกิดขึ้นคือ “เด็กเริ่มรู้ตัวว่าเป็น LGBTQ+ ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?” คำถามนี้ไม่เพียงแค่ชวนให้คิดในเชิงจิตวิทยาและพัฒนาการเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความจำเป็นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้เติบโตอย่างเข้าใจและเป็นตัวของตัวเอง
พัฒนาการทางเพศของเด็กคืออะไร?
พัฒนาการทางเพศ (sexual development) คือกระบวนการทางร่างกาย จิตใจ และสังคมที่เด็กค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจในเพศสภาพ (gender identity), บทบาททางเพศ (gender role), อัตลักษณ์ทางเพศ (sexual orientation) และความสัมพันธ์กับผู้อื่น
พัฒนาการทางเพศโดยสังเขปตามวัย:
- วัย 2-3 ปี : เด็กเริ่มรู้ว่าตนเป็น “ผู้ชาย” หรือ “ผู้หญิง” (gender identity)
- วัย 4-5 ปี : เริ่มมีการแสดงบทบาททางเพศ และรับรู้ความแตกต่างของเพศจากการแต่งตัว กิริยาท่าที การพูดจา การประพฤติปฏิบัติ
- วัยประถมปลาย-มัธยมต้น : เริ่มรู้สึกดึงดูดต่อผู้อื่น และตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตน
- วัยรุ่น (12-18 ปี) : พัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศชัดเจนขึ้น อาจมีการเปิดเผยตัวตน (coming out)
เด็ก “รู้ตัว” ว่าตนเป็น LGBTQ+ ตอนไหน?
งานวิจัยพบว่าเด็กสามารถเริ่มรับรู้ถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 2-3 ปี โดยเริ่มจากการรับรู้ว่า “ฉันเป็นผู้หญิง” หรือ “ฉันเป็นผู้ชาย” ตามการแสดงออกและแบบแผนทางสังคม ในวัย 4-5 ปี เด็กจะเริ่มแยกแยะบทบาททางเพศได้ และเมื่อเด็กอายุ 5-7 ปี บางคนอาจเริ่มรู้สึกว่าเพศสภาพที่พวกเขารู้สึกภายในไม่ตรงกับเพศที่เกิดมา (Gender Dysphoria) หรือเริ่มมีความรู้สึกชอบเพศเดียวกันโดยไม่สามารถอธิบายได้ในเชิงทฤษฎี ซึ่งนำไปสู่การค้นหาตัวตนหรือเลือกที่จะเป็น LGBTQ+ เมื่อโตขึ้นสู่วัยรุ่น
การวิจัยจาก The Trevor Project พบว่า เยาวชน LGBTQ+ อายุ 13-17 ปี มักเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองเมื่ออายุเฉลี่ย 13 ปี โดย 35% เปิดเผยก่อนอายุ 13 ปี
ซึ่งความหลากหลายทางเพศเกิดได้ทุกช่วงวัย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปตามบุคคล ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ เด็กส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผยตัวตนทันที แต่จะ “เก็บไว้” เป็นเวลานานเนื่องจากความกลัวการถูกปฏิเสธหรือตีตราจากครอบครัวและสังคม
![มูลนิธิเด็กโสสะ-เด็ก LGBTQ+ เริ่มเข้าใจตัวเองเมื่อไหร่ สำคัญที่ใครอยู่ข้างเขา-อบรม self esteem]()
ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กกล้ารู้และยอมรับตัวตน
1. สภาพแวดล้อมในครอบครัว
ครอบครัวที่เปิดกว้าง รับฟัง และไม่ตีตราเรื่องเพศ ทำให้เด็กกล้าสำรวจตัวเองและพูดคุยกับพ่อแม่ เช่น การไม่ห้ามลูกผู้ชายเล่นตุ๊กตา หรือไม่จำกัดบทบาททางเพศของเด็ก
2. การศึกษาและเนื้อหาในสื่อ
เด็กยุคใหม่ได้รับข้อมูลจากหนัง ซีรีส์ แพลตฟอร์มออนไลน์ และโซเชียลมีเดียที่เปิดเผยเรื่อง LGBTQ+ มากขึ้น ทำให้พวกเขาเห็นแบบอย่างและเข้าใจว่าความหลากหลายคือเรื่องปกติ
3. เพื่อนและชุมชนที่สนับสนุน
เมื่อเด็กมีครอบครัว เพื่อน หรือครูที่เข้าใจและไม่ตัดสิน พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและปลอดภัยที่จะเป็นตัวเอง
กล่าวคือ เด็กสามารถเริ่มรู้ตัวว่าเป็น LGBTQ+ ได้ตั้งแต่อายุน้อย และประสบการณ์นั้นแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม การสนับสนุนที่ดีจากครอบครัว โรงเรียน และสังคม คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตอย่างมั่นใจและมีความสุขในแบบของตนเอง
LGBTQ+ ไม่ใช่สิ่งผิดธรรมชาติ
ความหลากหลายทางเพศคือเรื่องปกติของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา และนักชีววิทยาทั่วโลกยืนยันว่า LGBTQ+ ไม่ใช่ “ความผิดปกติ” และไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูผิดๆ หรือความผิดพลาดของพ่อแม่ งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ American Psychological Association (APA) ระบุว่า
“ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่าอัตลักษณ์ทางเพศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการอบรมหรือรักษา” การที่เด็กคนหนึ่งแสดงออกถึงความเป็น LGBTQ+ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่คือหนึ่งในรูปแบบของความเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลาย
![มูลนิธิเด็กโสสะ-เด็ก LGBTQ+ เริ่มเข้าใจตัวเองเมื่อไหร่ สำคัญที่ใครอยู่ข้างเขา-infographic]()
พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อเด็กเริ่มรู้ตัวว่าเป็น LGBTQ+
1.รับฟังโดยไม่ตัดสิน
อย่าพยายาม “แก้ไข” หรือ “ปฏิเสธ” สิ่งที่เด็กพูด เพราะนั่นอาจทำลายความมั่นใจและสุขภาพจิตในระยะยาว การที่ลูกตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น “หนูเป็นผู้หญิงแน่หรือเปล่า?” “หนูชอบเพื่อนเพศเดียวกันหรือเปล่า?” ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะการค้นหาตัวตนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ควรเปิดใจรับฟัง ไม่รีบตัดสินว่า “ลูกแค่สับสน” หรือ “เป็นเพราะเพื่อนชักจูง”
2.ตั้งคำถามอย่างเข้าใจ
ถามด้วยความจริงใจ เช่น “หนูอยากให้แม่เข้าใจหนูแบบไหน?” หรือ “หนูรู้สึกแบบนี้มานานหรือยัง?” และทำความเข้าใจถึงความคิดของลูก พร้อมเปิดใจพูดคุยโดยไม่อคติ
3.ศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ
หากยังไม่เข้าใจเรื่อง LGBTQ+ พ่อแม่ควรเริ่มต้นจากการเรียนรู้ ไม่ใช่การตำหนิลูก เพื่อให้เข้าใจและสามารถให้คำปรึกษาได้ดีขึ้น เช่น ปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านจิตวิทยาเด็ก ผู้เชี่ยวชาญ หรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
4. สร้างพื้นที่ปลอดภัย
สนับสนุนและให้ความเคารพในตัวตนของลูก เปิดใจ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกยอมรับตัวตนและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ให้การดูแลทั้งที่บ้าน โรงเรียน และสื่อที่เด็กบริโภค เพื่อให้พวกเขาเติบโตด้วยความรู้สึกมั่นคงในตัวตน
- เคารพการใช้สรรพนามของลูก
- ปรึกษาครูหรือโรงเรียนหากลูกถูกกลั่นแกล้ง
- หมั่นพูดคุยให้เวลากับลูก
รู้จักสัญญาณเตือนภาวะเครียดในเด็ก LGBTQ+
การไม่เป็นที่ยอมรับจากครอบครัวหรือสังคม คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพจิตของเยาวชน LGBTQ+ โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูควรหมั่นสังเกตสัญญาณความเครียดในเด็ก เช่น
- เก็บตัว ไม่พูดคุย
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- พูดถึงการอยากหายไป หรือไม่มีค่า
- มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง
หากพบสัญญาณเหล่านี้ ควรรีบปรึกษานักจิตวิทยา หรือโทรปรึกษาสายด่วน เช่น
📞 สายด่วนสุขภาพจิต 1323
📞 ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชน 1387
![มูลนิธิเด็กโสสะ-เด็ก LGBTQ+ เริ่มเข้าใจตัวเองเมื่อไหร่ สำคัญที่ใครอยู่ข้างเขา-เชียงราย pride]()
ให้ความสำคัญกับทุก "ความแตกต่าง" อย่างเข้าใจ
ที่มูลนิธิเด็กโสสะฯ เราเชื่อว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด ก็ควรได้รับการดูแล เอาใจใส่ และเติบโตในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ปลอดภัย และเต็มไปด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะการให้สิทธิเด็กในการแสดงออกและรู้จักตัวตนของตนเอง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน เราสนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กทุกคนสามารถเติบโตอย่างมั่นใจในตัวตน ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ หรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น การสนับสนุนให้เด็กมีพื้นที่ปลอดภัยในการสำรวจและยอมรับตัวตนจึงเป็นสิ่งที่เรายึดถือและทำงานร่วมกับสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพราะทุกคนควรได้รับความรัก ความเข้าใจ และโอกาสในการเป็นตัวเองอย่างภาคภูมิใจ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่เห็นคุณค่าและเคารพความหลากหลาย เพื่อสร้างเด็กให้เติบโตมาด้วยใจที่แข็งแรง
![SOSThailand-QRCode-TTB-eDonation-08]()
ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต
เลขบัญชี 1711021871
อ้างอิง
Understanding sexual orientation and homosexuality
หมอชาวบ้าน
Human Rights Campaign