เกี่ยวกับเรา

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียบิดามารดา ขาดญาติมิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 ในรูปแบบของครอบครัวทดแทน โดยมีท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ เป็นผู้ก่อตั้งร่วมกับท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช กรรมการก่อตั้งในขณะนั้นและคณะ โดยได้นำรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กมาจากหมู่บ้านเด็กเอส โอ เอส (SOS Children's Villages) ของ ดร.เฮอร์มานน์ กไมเนอร์ (Dr. Hermann Gmeiner) ชาวออสเตรีย ผู้ก่อตั้งองค์กรหมู่บ้านเด็ก เอส โอ เอส สากล (SOS Children's Villages International) อันเป็นต้นแบบของหมู่บ้านเด็กเอส โอ เอส สากลทั่วโลก

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นสมาชิกขององค์กร หมู่บ้านเด็ก เอส โอ เอส สากล (SOS Children's Villages International) และ มีสมาชิกอยู่กว่า 130 ประเทศทั่วโลก

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ได้จัดสร้างหมู่บ้านเด็กแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ ได้บริจาคที่ดินเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 48 ตารางวา สร้างหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู สมุทรปราการ หมู่บ้านเด็กโสสะแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้มูลนิธิเด็กโสสะฯ อยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ 

รายชื่อคณะกรรมการ

หมู่บ้านเด็ก เอส โอ เอส สากล

หมู่บ้านเด็ก เอส โอ เอสสากล ก่อตั้งโดยดร.เฮอร์มานน์ กไมเนอร์ (Dr. Hermann Gmeiner) ชาวออสเตรีย เมื่อปี พ.ศ.2492 โดยมีหมู่บ้านเด็กเอส โอ เอส อิมส์ ประเทศออสเตรีย เป็นหมู่บ้านแรก ศ.ดร.เจริญและท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ เมื่อไปเยี่ยมและดูงานที่หมู่บ้านเด็ก SOS แห่งแรกของโลก ณ เมือง Imst ประเทศออสเตรีย เป็นครั้งแรกและประทับใจการดำเนินงานของหมู่บ้านเด็ก SOS จึงนำมาใช้ในประเทศไทย ปัจจุบันมีมิสเตอร์เฮลมุท กูติน (Mr.Helmut Kutin) เป็นประธานกิตติมศักดิ์ และ Dr.Dereje Wordofa เป็นประธานองค์กรหมู่บ้านเด็กเอส โอ เอส สากล (SOS Children's Villages International) และมีสมาชิกอยู่กว่า 130 ประเทศทั่วโลก

หลักการดำเนินงาน

    เราช่วยเหลือเด็กที่ขาดพ่อแม่และญาติมิตร หรือ เด็กที่ครอบครัวดั้งเดิมไม่สามารถเลี้ยงดูได้ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้เติบโตขึ้นและเป็นหนึ่งของครอบครัวอีกครั้ง โดยการสร้างครอบครัวทดแทน ที่ให้การเลี้ยงดูเด็กในบรรยากาศของครอบครัวที่อบอุ่นเต็มเปี่ยมด้วยความรักและเด็กได้เติบโตขึ้นตั้งแต่วัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ ได้รับการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ จนสามารถออกไปประกอบชีพ เลี้ยงดูตัวเองได้ และอาศัยอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข เรามุ่งมั่นในการสร้างและรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็ก เพื่อให้เด็กได้มีวัยเด็กที่เปี่ยมสุข ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรัก การให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ใน  บ้านแห่งความรัก ของเด็กทุกคน

จุดมุ่งหมายในการทำงาน

แนวคิดในการทำงาน

เราเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนควรได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และครอบครัวเป็นที่ที่ดีที่สุด เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ในวัยเด็กที่เปี่ยมสุข และทำให้เด็กได้เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ และเราก็ยังเชื่อมั่นว่าสำหรับเด็กที่เคยสูญเสียโอกาสที่จะได้เติบโตในครอบครัวของตัวเองมาแล้วนั้น ควรได้รับโอกาสที่สองในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้อีกครั้ง เพื่อให้เด็กได้เติบโตในทิศทางที่เหมาะสมอย่างที่เด็กคนหนึ่งควรจะเป็นมากที่สุด

วิสัยทัศน์

เด็กทุกคนควรเติบโตในครอบครัวซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความรัก การให้เกียรติซึ่งกันและกัน และความมั่นคงปลอดภัย

เราแตกต่างจากองค์กรที่ช่วยเหลืออื่นอย่างไร

เราเลี้ยงดูเด็กในสิ่งแวดล้อมของครอบครัว เราให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กแต่ละคนให้ได้เติบโตในทางที่เหมาะสม เรามุ่งมั่นในการทำงานระยะยาวโดยการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ ได้รับการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ จนสามารถออกไปประกอบอาชีพและพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

หลักสี่ประการในการดำเนินงาน

แม่

 

เด็กทุกคนมีแม่ผู้ให้การเลี้ยงดูด้วยความรักและความอบอุ่น แม่โสสะพร้อมรับลูกทุกคนให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโสสะโดยไม่มีเงื่อนไข ก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์อันแนบแน่นและมั่นคงระหว่างแม่โสสะกับลูกโสสะทุกคน

พี่น้องชายหญิง

เด็กชายหญิงต่างวัยและที่มาได้อาศัยอยู่ร่วมกันในครอบครัวโสสะที่มีสายสัมพันธ์ของความเป็นพี่น้อง อีกทั้งพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกันยังได้อาศัยอยู่และเติบโตมาในครอบครัวโสสะเดียวกันอีกด้วย

บ้านของครอบครัว

เด็กทุกคนมีบ้านของตัวเองซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคงปลอดภัย

 

 

 

 

หมู่บ้านเด็ก

 

ครอบครัวโสสะอาศัยอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านเด็กโสสะซึ่งเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือและเกื้อกูลกัน อีกทั้งหมู่บ้านเด็กโสสะยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพากันอาศัยกัน

 

4 สิ่งที่เด็กจะได้รับจากการเลี้ยงดูของเรา

การทำงานด้านอื่นๆ

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังขยายความช่วยเหลือไปยังครอบครัวของเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณใกล้เคียงหมู่บ้านเด็กโสสะ ภายใต้ “โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับครอบครัว” โดยให้การสนับสนุนด้านอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการและความถนัดของคนในชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้มีอาชีพและรายได้ในการดำเนินชีวิต  ซึ่งเราเชื่อว่าเมื่อครอบครัวและชุมชนมีความเข้มแข็งแล้ว โอกาสที่เด็กๆ จะถูกทอดทิ้งก็จะลดปริมาณลง และเด็กๆ จะได้เติบโตขึ้นในครอบครัวของตนเองอย่างมีความสุข