อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้ให้คำนิยาม “เด็ก” หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสตามกฎหมาย
นอกจากสิทธิเด็ก 4 ประการ ที่หลายคนอาจคุ้นหูกันมาบ้าง ในประเทศไทยยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อบังคับใช้คุ้มครองเด็กให้ได้รับการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม รวมถึงป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรม หรือกลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 มี “10 สิ่งที่ทุกคนไม่ควรกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตาม” โดยนอกจากเป็นสิ่งที่อยู่ในสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานแล้ว ยังเป็นข้อปฏิบัติที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายค่ะ
10 สิ่งที่ห้ามกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
1. ห้ามกระทำการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
2. ห้ามจงใจ ละเลยการดูแล ไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
3. ห้ามบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด
4. ห้ามโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว
5. ห้ามบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทาน การกระทำผิด หรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
6. ห้ามใช้ จ้าง วานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
7. ห้ามบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม ยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือกระทำการแสวงหาประโยชน์ทางการค้า อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
8. ห้ามใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันทุกชนิด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี สถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
9. ห้ามบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดง หรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด
10. ห้ามจำหน่าย แลกเปลี่ยน ให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์
ในฐานะที่มูลนิธิเด็กโสสะฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเด็กภายใต้การเคารพใน "สิทธิเด็ก" เป็นสำคัญ นอกจากการมุ่งเน้นเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็กที่ขาดโอกาส ครอบครัวโสสะขอเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงให้กับผู้ใหญ่ทุกคนได้ตระหนักถึง "สิ่งที่ไม่ควรกระทำต่อเด็ก" ค่ะ
อ้างอิง
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546