คำถามที่พบบ่อย

ท่านถาม...เราตอบ...

เกี่ยวกับเรา

หมู่บ้านเด็กโสสะ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า SOS Children’s Villages ภายใต้ในนามของมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (ชื่อจดทะเบียนตามกฎหมาย) ซึ่งดำเนินการในเมืองไทยมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514 ปัจจุบันมีหมู่บ้านเด็กโสสะ 5 แห่ง ในประเทศไทย เป็นองค์กรพัฒนาเด็กเอกชนที่ให้การช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ หรือ เด็กที่ครอบครัวเดิมไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลเด็กได้ โดยให้การเลี้ยงดูเด็กในรูปแบบของครอบครัวทดแทน

สมัยก่อนจดทะเบียนชื่อมูลนิธิฯ เราไม่สามารถจดชื่อเป็นภาษาอังกฤษ "SOS Children's Villages Thailand" ได้ ดังนั้นทางคณะกรรมการผู้ก่อตั้งมีมติร่วมกันให้ใช้ชื่อว่า "โสสะ" โดยมีการตัวอักษร "A" ท้ายคำ "SOS" อ่านออกเสียว่า โสสะ (SOSA) และมีความหมายว่า 'ศูนย์รวมแห่งความดีงาม'

หมู่บ้านเด็กโสสะให้การช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ หรือ เด็กที่ครอบครัวเดิมไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลเด็กได้ โดยเด็กจะมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอีกครั้งจากการเลี้ยงดูของครอบครัวโสสะซึ่งมีคุณแม่โสสะ ซึ่งเป็นคุณแม่ประจำบ้าน ดูแลลูกประมาณ 10 คนต่อหนึ่งครอบครัว  มีบทบาทหน้าที่ทางครอบครัวเสมือนครอบครัวทั่วไป ภายในครอบครัวหนึ่งยังประกอบด้วยพี่น้องชายหญิงต่างวัยอาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน โดยแต่ละครอบครัวจะมีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่ร่วมกันในหมู่บ้านเด็กโสสะซึ่งเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือพึ่งพากัน หมู่บ้านหนึ่งจะประกอบด้วยบ้านของครอบครัวโสสะประมาณ 10 - 12 หลัง

เด็กจะได้รับการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่โดยมุ่งเน้นพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็กแต่ละคน อีกทั้งเด็กยังได้มีวัยเด็กที่เปี่ยมสุขเช่นเดียวกับเด็กในครอบครัวทั่วไป ได้รับการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ จนออกไปประกอบอาชีพและพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

หมู่บ้านเด็กโสสะเลี้ยงดูเด็กในรูปแบบครอบครัว (Family environment) โดยเด็กจะได้รับการเลี้ยงดูในระยะยาวตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ (Reliable and resilient relationship) นอกจากนี้เด็กแต่ละคนได้รับการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ จนออกไปสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข (Individual child’s development)

  • มูลนิธิเด็กโสสะฯ ดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514 มีโครงการหมู่บ้านเด็กโสสะทั้งหมด 5 หมู่บ้านทั่วประเทศ และเป็นสมาชิกขององค์กรหมู่บ้านเด็ก เอสโอเอส สากล ประเทศออสเตรีย ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่กว่า 130 ประเทศทั่วโลก ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949  ปัจจุบันหมู่บ้านเด็กโสสะแห่งประเทศไทยได้ให้การดูแลเด็กประมาณ 700 คน ในหมู่บ้านเด็กโสสะ 5 แห่งทั่วประเทศไทย ได้แก่ บางปู สมุทรปราการ, หาดใหญ่ สงขลา, หนองคาย, เชียงราย และภูเก็ต และมีเด็กที่เติบโต สำเร็จการศึกษา จนออกไปประกอบอาชีพพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข กว่า 500 คน ทั่วประเทศ
  • มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2514 จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณกุศลลำดับที่ 38 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกำหนดองค์การสาธารณกุศล  >>ตรวจสอบ<<     
  • สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงรับมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ  เข้าอยู่ภายใต้พระบรม-ราชินูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2519
  • เนื่องจากมูลนิธิเด็กโสสะฯ จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณกุศลกับกรมสรรพากร ผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จที่ออกโดยมูลนิธิฯ ประกอบการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ตามที่กฎหมายกำหนด
  • มูลนิธิฯ ต้องรายงานผลการดำเนินการรวมถึงบัญชีรายได้รายจ่ายและสำเนางบดุลของมูลนิธิฯ ในรอบปีที่ผ่านมา ในเดือนมีนาคมของทุกปีต่อผู้สอบบัญชีซึ่งได้รับอนุญาตและรับรองความถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย
  • มูลนิธิฯ ขอเรียนเชิญมาเยี่ยมเด็กๆ ที่หมู่บ้านเด็กโสสะทั้ง 5 หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อสัมผัสประสบการณ์ของหมู่บ้านเด็กโสสะโดยตรง ตามนิยามสากลขององค์กรที่ว่า “บ้านแห่งความรัก ของเด็กทุกคน” ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.00 น. อย่างไรก็ตามเนื่องจากเราเลี้ยงดูเด็กเหมือนครอบครัวทั่วไป หากท่านต้องการไปเยี่ยมเด็กๆ ที่หมู่บ้านเด็กโสสะ รบกวนท่านทำการนัดล่วงหน้า เพื่อทางหมู่บ้านจะได้เตรียมต้อนรับตามวันและเวลาที่ท่านได้นัดหมายมา

การเลี้ยงดูเด็ก

เราเลี้ยงดูเด็กแบบครอยครัว ที่มีแม่โสสะให้การดูแล มีพี่น้องอยู่ร่วมกันภายในบ้าน โดยเด็กคนหนึ่งจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องระยะยาว ตั้งแต่วัยแรกเกิด จนเติบโต ได้รับการศึกษา สามารถประกอบอาชีพ และออกสู่สังคมเพื่อใช้ชีวิตด้วยตนเองต่อไปได้

เราช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียบิดามารดา และญาติมิตร หรือเด็กที่ครอบครัวดั้งเดิมไม่สามารถเลี้ยงดูได้ ในวัยตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ปี ทั้งนี้ เด็กๆ จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจนเติบโตขึ้น และได้รับการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ ซึ่งหากเรียนจบถึงชั้นปริญญาตรีน้องๆ จะมีอายุประมาณ 22-23 ปี ค่ะ

ในครอบครัวโสสะจะมีเด็กๆ หลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย โดยเด็กทุกคนจะได้รับการส่งเสริมด้านการศึกษาจนจบภาคบังคับ (ถึง ม.3) หลังจากนั้น น้องๆ จะได้รับการศึกษาต่อตามความชอบ ความสามารถ ทั้งด้านวิชาชีพ และระดับปริญญาตรี จนสามารถเรียนจบออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้

อย่างไรก็ตามเด็กจะต้องจบขั้นต่ำ ระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 เนื่องจากเป็นการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย จากนั้นจะมีการส่งเสริมการฝึกงานด้านอาชีพ เช่น งานช่าง งานเสริมสวย งานคหกรรม เพื่อให้น้องสามารถออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้และไม่เป็นภาระต่อสังคม

มูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือเด็กไทย ดังนั้นเด็กทุกคนจึงมีสิทธิบัตรทองและสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ แต่ในกรณีที่สิทธิ์บัตรทองไม่ครอบคลุม ทางมูลนิธิฯ ได้มีการเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้เช่นกัน เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม

สำหรับการรับเคสเด็ก แต่ละหมู่บ้านจะมีผู้อำนวยการหมู่บ้านฯ และนักสังคมสงเคราะห์ ที่จะคอยรับแจ้งเคสเด็กจากเครือข่ายทำงานด้านเด็ก ทั้งภาครัฐและ NGO เมื่อได้รับการแจ้งเคสมาแล้ว ทางผู้อำนวยการหมู่บ้านและนักสังคมสงเคราะห์จะออกไปศึกษาดูเคสเด็ก ก่อนที่จะรับน้องเข้ามาอยู่ในการดูแลของครอบครัวโสสะ ว่าเด็กเหล่านั้นเค้าต้องการได้รับการดูแลแบบ Long-term ของมูลนิธิเราไหม?

กล่าวคือเป็นเด็กกำพร้าหรือถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครแล้วจริง ๆ เด็กอยู่ในเกณฑ์อายุ 0-7 ขวบ ไม่พิการ หรือเป็นโรคเฉพาะทาง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นทางเราจะส่งต่อ NGO อื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลด้านนั้น ๆ ต่อไป

สืบเนื่องจากการทำงานของมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ เป็น Concept Based ช่วยเหลือเด็กกำพร้าในรูปแบบครอบครัวทดแทน ทางเราไม่ได้ทำงานเป็น Project Based ระยะสั้น ดังนั้นเกณฑ์การรับเด็กยังคงเหมือนเดิม คือ ช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่ขาดบิดามารดา ถูกทอดทิ้ง ดังนั้นในการเลี้ยงดูเราจึงเลี้ยงเด็กตามจำนวนที่บ้านของครอบครัวรองรับได้ คือ 10 คนต่อหลัง (Full capacity) และเน้นในเรื่องคุณภาพของการเลี้ยงดูเป็นสำคัญ กว่าการขยายจำนวนการช่วยเหลือเด็กกลุ่มอื่น

การเข้าเยี่ยมและทำกิจกรรม

สามารถเข้าเยี่ยมได้ หมู่บ้านเด็กโสสะทั้ง 5 ที่ จะเปิดทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. หากไปเป็นครอบครัว ไม่ต้องนัดล่วงหน้า แต่ถ้ามาเป็นกลุ่มบุคคลหรือบริษัท อาจจะต้องมีการนัดหมายก่อน

  • สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่เบอร์ 02-3801177 ต่อ 112 และ 106 แผนกความร่วมมือระหว่างองค์กร (Corporate Partnership)
  • ส่วนการรับเข้าทำกิจกรรม ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี ทั้งนี้กิจกรรมต้องเกิดประโยชน์กับเด็ก ให้ความรู้และสันทนาการไปพร้อมกัน

วิธีบริจาคและการสนับสนุนของที่ระลึกผ่านเว็บไซต์

More

มูลนิธิเด็กโสสะฯ มีช่องทางในการบริจาคหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้บริจาค ดังนี้

  1. บริจาคผ่านเว็บไซต์
  2. เลขบัญชีธนาคาร หรือ สแกน QR Code
  3. แอปพลิเคชันบนมือถือ
  4. แลกคะแนนสะสมบัตร / สมาชิก

การสนับสนุนของที่ระลึกต่างๆ จากมูลนิธิเด็กโสสะฯ เป็นการสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กๆ ที่ขาดโอกาสอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งท่านจะได้รับใบเสร็จภายใน 30 วันทำการ เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมายกำหนดค่ะ

ผ่านช่องทางดังนี้

  1. ผ่านเว็บไซต์มูลนิธิฯ
  2. ผ่าน LINE Shopping
  3. ผ่าน Shopee

อื่นๆ

เราเป็นองค์กรพัฒนาเด็กเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากการบริจาคจากผู้ที่ให้การสนับสนุน  ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเราเชื่อมั่นว่าคงไม่มีใครช่วยเหลือเด็กไทยได้ดีไปกว่าคนไทยด้วยกันอีกแล้ว เพราะยังมีเด็กไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากผู้มีจิตกุศลอยู่เสมอ 

หมู่บ้านเด็กโสสะ ให้การดูแลเด็กในรูปแบบครอบครัวในระยะยาวตั้งแต่วัยเด็ก เติบโตเป็นวัยรุ่นและเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อีกทั้งให้การศึกษาแก่เด็กสูงสุดตามความสามารถของเด็กแต่ละคนจนกว่าเด็กจะเรียนจบ และประกอบอาชีพ ตลอดจนสามารถรับผิดชอบดูแลตัวเองได้ มูลนิธิเด็กโสสะฯ จึงไม่ใช่องค์กรที่ให้การสนับสนุนบริการเพียงด้านใดด้านหนึ่งให้กับเด็กในช่วงระยะเวลาที่จำกัดเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการเลี้ยงดูที่ครอบคลุมทุกด้านเหมือนเด็กในครอบครัวทั่วไป และจากการสนับสนุนของท่านอย่างต่อเนื่องนี้เอง ทำให้เด็กแต่ละคนสามารถได้รับการเลี้ยงดูในระยะยาวตามพัฒนาการที่เหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ย่อมส่งผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อคุณภาพชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

เมื่อท่านได้สนับสนุนเด็กของหมู่บ้านเด็กโสสะนั้น ท่านไม่เพียงมอบอาหาร เสื้อผ้า สุขภาพและการศึกษาเท่านั้น แต่ยิ่งไปกว่านั้น ท่านได้มอบบ้านแห่งความรักให้กับเด็กทุกคน บ้านที่เปี่ยมด้วยความอบอุ่นการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งคงไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้ และคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสิ่งนี้ คือ พื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในวันข้างหน้า