วิธีป้องกันและแนวทางเมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ

วิธีป้องกันและแนวทางเมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ
 

การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับใครหรือเพศไหนก็ตาม โดยเฉพาะกับ “เด็ก” ที่ยังไม่สามารถปกป้องตนเองได้ การล่วงละเมิดเด็ก ไม่ได้เกิดขึ้นจากบุคคลแปลกหน้าภายนอกเท่านั้น แต่กระทั่งคนรู้จักใกล้ชิด เพื่อนบ้าน ครู ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่คนในครอบครัวเอง ก็อาจเป็นผู้กระทำได้เช่นกัน
 

การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) คืออะไร?

การคุกคามทางเพศ หรือการล่วงละเมิดทางเพศ คือ การกระทำ/พฤติกรรมที่มีเจตนาไม่ดี แสดงออกถึงนัยยะทางเพศต่อเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกัน โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ดี ไม่ปลอดภัย หรือถูกลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวหมายรวมถึงรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1. การสัมผัสทางกาย (Physical Conduct) คือ การใช้อวัยวะสัมผัสถูกร่างกายของอีกฝ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือบังคับให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายตนเอง เช่น การโอบกอด แตะเนื้อต้องตัว ลูบไล้ เป็นต้น

2. การแสดงออกทางวาจา (Verbal  Conduct) คือ การใช้คำพูดล่วงเกิน ล้อเลียน พูดถึงสัดส่วนร่างกาย รวมถึงมุกตลกเรื่องเพศที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวถึงรู้สึกแย่ ไม่ปลอดภัย

3. การแสดงออกทางกริยาท่าทาง สายตา (Visual Conduct) คือ การใช้กริยา ท่าทาง หรือสายตา แสดงออกถึงความรู้สึกทางเพศที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกหวาดกลัว ขยะแขยง เช่น การใช้สายตาจ้องมองแทะโลม การทำมือสื่อถึงท่าทางเพศ เป็นต้น

4. การส่งข้อความอนาจาร (Written Conduct) คือ ข้อความที่ผ่านการเขียน หรือพิมพ์ ในเชิงส่อไปทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งส่วนตัว ผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงการส่งรูปภาพอนาจารให้แก่ผู้อื่น
 

มูลนิธิเด็กโสสะ-ช่วยเหลือเด็กกำพร้า-ปัญหาสังคม-ล่วงละเมิดทางเพศ
 

ผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดมีผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการละเมิดนั้นเกิดขึ้นในวัยเด็ก แม้ในตอนที่ถูกกระทำ เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจว่าการถูกละเมิดเป็นอย่างไร แต่พวกเขาจะจดจำความรู้สึกนั้นกระทั่งเติบโตขึ้น และเริ่มเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นคือ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งก่อให้เกิดบาดแผลในใจตามมา

1. ผลทางร่างกาย (Physical Effects) อาการบอบช้ำทั้งการถูกกระทำที่รุนแรง รวมถึงสภาพร่างกายที่ย่ำแย่จากภาวะความเครียด

2. ผลทางจิตใจ (Emotional / Mental Health Effects) ผลกระทบทางจิตใจจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว ทั้งภาวะความเครียด ความหวาดกลัว หวาดระแวง ความรู้สึกด้อยค่าในตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการป่วยทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล (PTSD) เป็นต้น
 

สอนลูกป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ


สอนลูกป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง ไม่มีทางรู้เลยว่า การละเมิดเด็ก จะมาในรูปแบบไหน จากใครได้บ้าง ดังนั้นเราควรสอนลูกให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ และวิธีการป้องกันตนเอง เพื่อช่วยปกป้องลูกน้อยจากการถูกคุกคาม

1. สอนให้ลูกรู้จักร่างกายของตนเอง
เมื่อลูกเข้าสู่วัย 2-3 ขวบ เด็กจะเริ่มเรียกชื่อได้ และเริ่มรู้จักสงสัยในความแตกต่างของร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักชื่ออวัยวะด้วยคำง่ายๆ เช่น อวัยวะเพศของผู้ชายเรียก จู๋ ของผู้หญิงเรียก จิ๋ม หรือในส่วนอื่นๆ อย่าง ก้น, นม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำหยาบคายหรือเรื่องน่าอาย แต่เพื่อให้ลูกสามารถสื่อสารได้เข้าใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ เด็กถูกละเมิด เกี่ยวกับร่างกาย

โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จัก “พื้นที่ส่วนตัว” ไม่ปล่อยให้ใครมาสัมผัสร่างกายเราโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น การหอมแก้ม จุ๊บปาก จับร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวัยวะในร่มผ้า ที่ไม่ควรปล่อยให้ใครมาแตะต้อง ซึ่งเมื่อเด็กเริ่มเจริญวัยก็มีบางจุดเองอย่างบริเวณก้น หน้าอก อวัยวะเพศ ที่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรสัมผัสลูกเช่นกัน (ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับบริบทของครอบครัวและความเหมาะสม)
 

2. สอนให้ลูกรู้จักสิทธิ แยกแยะสัมผัสที่ควรและไม่ควร
สอนให้ลูกรู้จัก สิทธิเด็ก ที่ตนเองพึงมี เพื่อปกป้องพื้นที่ส่วนตัวและเคารพในสิทธิของผู้อื่น รู้จักแยกแยะระหว่างสัมผัสทั่วไป เช่น ในการเรียนอย่างวิชาพละ การเล่น การทำกิจกรรมร่วมกัน การไปหาหมอ ฯลฯ  กับสัมผัสที่ไม่ปลอดภัย เช่น การแตะต้องที่ทำให้รู้สึกอึดอัด การลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวหรืออวัยวะในร่มผ้าโดยไม่จำเป็น ฯลฯ และอย่าลืมสอนลูกป้องกันตนเองจากคนแปลกหน้า
 

3. ไม่บังคับให้ลูกสัมผัส กอด หรือหอมคนอื่น
แม้จะเป็นการกระทำด้วยความรู้สึกเอ็นดู แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรบังคับให้ลูกกอดหรือหอมคนอื่น รวมถึงการยินยอมให้คนอื่นมากอดหรือหอมโดยที่ลูกไม่เต็มใจ แม้จะเป็นญาติก็ตาม เพราะจะทำให้ลูกสับสนว่าควรปกป้องร่างกายตนเองหรือยินยอมให้คนอื่นสัมผัสกันแน่ หากลูกรู้สึกสบายใจที่จะสัมผัสให้ลูกได้ตัดสินด้วยสิทธิในร่างกายของตนเอง ไม่ใช่การบังคับให้ทำตาม
 

4. สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ
สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธเมื่อมีคนมาสัมผัสในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าหรือคนรู้จักใกล้ชิดก็ตาม ให้ลูกปฏิเสธด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ไม่ได้” แล้ววิ่งหนีออกมา รวมถึงการปฏิเสธที่จะอยู่ในที่ลับตาสองต่อสองกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น ครู หรือญาติพี่น้องก็ตาม
 

5. สอนให้ลูกบอกพ่อแม่ทันที เมื่อมีคนมาจับหรือโชว์อวัยวะส่วนตัวให้ดู
เมื่อเกิดเหตุการณ์ถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดขึ้น สอนให้ลูกบอกกับคุณพ่อคุณแม่ทันที แม้ผู้กระทำจะเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดก็ตาม โดยข้อนี้ค่อนข้างสำคัญ เนื่องจากเด็กมักถูกขู่ว่าไม่ให้บอกพ่อแม่หรือคนอื่น ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องขึ้น เด็กจึงมักไม่กล้าจะบอกกับครอบครัวว่าถูกกระทำ พ่อแม่จึงควรใช้เวลาพูดคุยและสอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา การดูแลและการป้องกันตนเอง เพื่อให้ลูกกล้าที่จะพูดคุยเปิดเผยกับพ่อแม่ โดยอาจใช้เป็นหนังสือนิทานเพื่อสื่อสารให้ลูกน้อยเห็นภาพ และย้ำเตือนให้กำลังใจว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ ดังนั้นอย่ากลัวที่จะบอกกับพ่อแม่เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย

ในเด็กโต ช่วงวัยรุ่นขึ้นไป พ่อแม่ควรเพิ่มการพูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก วิธีการปฏิบัติตัวและการป้องกันตนเองจากความเสี่ยง ทักษะการปฏิเสธ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการคุมกำเนิด
 

ทำอย่างไร เมื่อสงสัยหรือทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ
 

ทำอย่างไรเมื่อสงสัย หรือทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ

หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก หากเริ่มมีความผิดปกติ เช่น มีร่องรอยฟกช้ำไม่ทราบสาเหตุ, มีอาการเก็บตัว หวาดกลัว ตกใจง่าย, หวาดกลัวบางคน/บางสถานที่เป็นพิเศษ เป็นต้น ให้พ่อแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดแต่อยู่ในระยะที่ไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด เพื่อหาทางพูดคุยแก้ไขต่อไป

1. พร้อมรับฟังสิ่งที่ลูกต้องการสื่ออย่างมีสติ
เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่าต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหาหรืออยากขอความช่วยเหลือ อย่าผัดผ่อน แต่ให้พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจจริง เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกมั่นใจที่จะขอความช่วยเหลือ แม้เรื่องราวจะดูร้ายแรง หรือยากเกินกว่าจะเชื่อได้ แต่ให้รับฟังด้วยอารมณ์สงบ ไม่ตกใจ โกรธ หรือโวยวาย เพราะจะทำให้เด็กยิ่งรู้สึกกลัว และให้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “เป็นความจริง” ไว้ก่อนเสมอ ไม่โต้แย้งหรือแสดงท่าทีว่าไม่เชื่อ เพราะจะทำให้เด็กไม่อยากเล่าเรื่องราวและขอความช่วยเหลือจากเรา
 

2. ถามหาผู้กระทำ แต่ไม่คาดคั้น
ค่อยๆ ถามไถ่ถึงผู้กระทำ แต่หากเด็กไม่พร้อมที่จะบอกก็อย่าไปคาดคั้นหรือบังคับ ให้สอบถามอย่างใจเย็นเพื่อเก็บรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิด ความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็ก เพื่อกำหนดขอบเขตในการสืบหาผู้ต้องสงสัยต่อไป และคอยปลอบโยนเขาอยู่เสมอเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยและกล้าที่จะเล่า
 

3. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ
หลังจากคอยฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ให้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ พิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเพียงการวิเคราะห์ในเบื้องต้นก่อน ระหว่างนี้พาเด็กไปไว้ในที่ปลอดภัย จากนั้นจึงแจ้งตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ
 

  • พบเห็นการทารุณกรรมเด็กทุกรูปแบบ โทรแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300
  • พบเห็นเด็กอายุแรกเกิด ถึง 7 ปี ถูกละเลย ทอดทิ้ง หรือทำร้าย ติดต่อ “แผนกโปรแกรมการเลี้ยงดูเด็ก มูลนิธิเด็กโสสะฯ” โทร 0-2380-1177 ต่อ 411, 412
  • ติดต่อขอความช่วยเหลือเด็กถูกทารุณกรรม มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร 0-2412-1196, 0-2412-0739
     

4. พาเด็กไปตรวจรักษา รวบรวมหลักฐาน
รวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้กระทำในที่เกิดเหตุ หากสามารถถ่ายภาพร่องรอยการกระทำไว้ได้ให้ถ่ายไว้เป็นหลักฐาน และบอกเด็กให้เข้าใจว่าเราถ่ายไปใช้ทำอะไร ห้าม! นำไปเผยแพร่เด็ดขาด (ยกเว้นใช้ในการสืบสวนคดี) และพาเด็กไปตรวจร่างกาย อาจพาไปเองเพื่อความรวดเร็ว หรือเข้าร่วมกับหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อรวบรวมหลักฐาน ที่สำคัญ ห้าม! ชำระร่างกายเด็กก่อนการตรวจเด็ดขาด เพราะจะหลักให้ร่องรอยหลักฐานสูญหาย ทั้งนี้หากเป็นการถูกกระทำที่ผ่านมานานแล้ว ควรตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคและตรวจสอบการตั้งครรภ์ร่วมด้วย(กรณีเป็นเด็กหญิง)
 

มูลนิธิเด็กโสสะ-หมู่บ้านเด็กโสสะ-พี่น้องชายหญิง-เด็กกำพร้า
 

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้การช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกทำร้ายตั้งแต่วัยแรกเกิด – 7 ปี เพื่อมอบครอบครัวทดแทน ให้เด็กได้เติบโตด้วยความรัก ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัยอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในงานที่สำคัญก็คือ งานรณรงค์ด้านเด็ก (Advocacy) โดยเด็กทุกคนจะได้รับความคุ้มครองภายใต้หลัก นโยบายคุ้มครองเด็ก (SOS Child Safeguarding) ขององค์กร เพื่อให้เด็กได้เติบโตในครอบครัวอย่างมีคุณภาพ, มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย, ได้รับการปกป้องและอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่น้อยที่สุด ที่สำคัญ เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ สิทธิเด็ก ที่ตนเองพึงมี เพื่อป้องกันการถูกละเมิด (Child Abuse) ทุกรูปแบบ

เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่เปราะบาง การที่พวกเขาจะเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น เด็กควรได้รับการดูแล การปกป้องคุ้มครอง และเยียวยาอย่างเหมาะสม ดังนั้น การดูแลจากครอบครัวหรือคนสำคัญที่คอยอยู่เคียงข้าง จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างเข้มแข็งได้ค่ะ

ร่วมบริจาค

SOSThailand-QRCode-TTB-eDonation-08

ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต

เลขบัญชี 1711021871


อ้างอิง
มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิ
โรงพยาบาลเพชรเวช
โรงพยาบาลมนารมย์
passeducation

Copyright © All Right Reserved