ทำอย่างไรเมื่อเด็กติดมือถือ เสี่ยงสมาธิสั้น

มูลนิธิเด็กโสสะ-ทำอย่างไรเมื่อเด็กติดมือถือ เสี่ยงสมาธิสั้น-banner

ท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และสามารถเข้าถึงได้ง่ายแม้ในเด็กเล็กวัยเพียงไม่กี่ขวบ บางครอบครัวพ่อแม่อาจให้ลูกอยู่กับหน้าจอมือถือ แท็บเล็ต เพื่อลดภาระด้านเวลา เนื่องจากอาจจะไม่มีเวลาดูแลมากนัก หรือในช่วงปิดเทอมที่เด็กๆ จะได้อยู่บ้าน แทนที่จะได้ทำกิจกรรมต่างๆ กลับเอาแต่เล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตเกือบทั้งวัน แต่ทราบไหมคะ ว่าการปล่อยให้เด็กๆ อยู่กับหน้าจอมากเกินไปนั้นส่งผลเสียในระยะยาวที่รุนแรง

จากผลสำรวจพบว่า เกือบครึ่งของเด็กอายุ 0-2 ขวบ มีปฏิสัมพันธ์กับสมาร์ตโฟน และกลุ่มคน Generation Z ใช้เวลาหน้าจอเฉลี่ยมากถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน สะท้อนถึงแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคต การขยายตัวด้านพฤติกรรมหน้าจอในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย และจากผลวิจัยของ Active Healthy Kids Global Alliance พบว่าในช่วงระหว่างปี 2555-2560 เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน จากนั้นในปี 2561-2563 ระยะเวลาของพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อวันกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยสูงเกินกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
 

ผลเสียเมื่อเด็กติดจอ เสี่ยงสมาธิสั้น

การปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต มากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการ "ติดจอ" โดยเฉพาะในเด็กอายุ 0-6 ปี ที่อยู่ในช่วงวัยกำลังเรียนรู้สิ่งรอบตัว มีความสำคัญต่อพัฒนาการทั้งสมอง ร่างกาย และจิตใจ ดังนั้น หากเด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา จะทำให้ส่งผลกระทบด้านต่างๆ

ด้านสุขภาพ

แน่นอนว่าเด็กในวัยเจริญเติบโต หากไม่ได้ทำกิจกรรมที่ต้องมีการคิด การขยับร่างกาย ย่อมส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะสมอง กล้ามเนื้อ และสุขภาพโดยตรง

การจ้องจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต นานๆ จะทำให้เกิดอาการปวดหัว ปวดตา ปวดต้นคอ ปวดกล้ามเนื้อต่างๆ และปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ สายตาสั้น ตาแห้ง จอประสาทตาเสื่อม ในเด็กบางรายอาจเป็นโรคขาดสารอาหาร เนื่องจากติดจอจนไม่ยอมทานข้าว หรือเป็นโรคอ้วนจากการนั่งนานๆ โดยไม่ได้ขยับร่างกาย รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด

ด้านพัฒนาการและอารมณ์

เมื่อเด็กขาดโอกาสในเรียนรู้ในช่วงวัยที่สำคัญ เพราะเนือยนิ่ง ไม่ขยับ จะส่งผลต่อสมองและพัฒนาการด้านต่างๆ ได้ โดยในทางการแพทย์พบว่าเด็กที่เล่นมือถือนานๆ ติดต่อกัน 2 ชั่วโมง ต่อเนื่องกัน 2 ปี มีผลให้ขนาดของสมองบางส่วนเล็กลง มีพัฒนาการช้า กระบวนการคิด-พูดช้า สื่อสารน้อย และเสี่ยงต่ออาการสมาธิสั้น หรือ โรคสมาธิสั้นเทียม
 

เด็กติดมือถือ เสี่ยงโรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุจากการใช้หน้าจอโดยตรง แต่เด็กที่ใช้หน้าจอมากจะมีสมาธิจดจ่อน้อยลงรวมถึงอาจมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว การปล่อยให้เด็กเล็กเล่นมือถือ แท็บเล็ต เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน จะเป็นสิ่งกระตุ้นก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้ เนื่องจาก

  • สายตาจ้องโฟกัสกับความเคลื่อนไหวภาพตลอดเวลา
  • จดจ่อกับภาพในจอที่เปลี่ยนผ่านรวดเร็ว จนไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
  • เกิดปัญหาการใช้สมองส่วนความจำลดลง ทำให้ไม่สามารถให้ความสนใจและเรียนรู้ได้

นอกจากนี้ยังส่งผลด้านอารมณ์ ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ มักพบปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ มีการแสดงออกที่รุนแรง โวยวาย ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลง่ายกว่าเด็กทั่วไป

ด้านสังคม

ความสัมพันธ์ในครอบครัว คือพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสอนให้เด็กรู้จักการเข้าสังคม ซึ่งหากเด็กไม่เคยได้ทำกิจกรรมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว จะส่งผลให้ขาดทักษะด้านนี้ และกลายเป็นคนเก็บตัวอยู่กับมือถือ แท็บเล็ต ซึ่งอาจมีผลต่อการทำงานและการสื่อสารกับผู้คนเมื่อเติบโตคน
 

มูลนิธิเด็กโสสะ-ทำอย่างไรเมื่อเด็กติดมือถือ เสี่ยงสมาธิสั้น-infographic

การป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดมือถือ

พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหา "เด็กติดจอ" ได้มากที่สุด โดยต้องไม่ละเลยที่จะให้เวลากับการทำกิจกรรมร่วมกับลูก การสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว และเป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่ติดมือถือและแท็บเล็ตมากเกินไป เพื่อไม่ให้ลูกจดจำทำตาม
 

ลูกติดมือถือทำอย่างไร?

  1. กำหนดเวลาเล่นมือถือให้ชัดเจน จำกัดเวลาในการใช้งานอย่างเหมาะสมตามวัย เช่น เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป อาจให้เล่นวันละ 1 ชั่วโมงหลังทำการบ้านเสร็จแล้ว และในวันเสาร์-อาทิตย์ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เป็นต้น
  2. ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอเพียงลำพัง ควรให้คำแนะนำเนื้อหาที่ดูไปด้วยกัน
  3. หากิจกรรมเสริมทดแทนให้กับลูก รวมถึงพ่อแม่ควรใช้เวลาทำกิจกรรมกับลูกเยอะๆ เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดี และช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกอีกด้วย เช่น เล่นดนตรี เต้น ทำงานศิลปะ ทำอาหาร เล่นกีฬา
  4. ให้เด็กได้มีช่วงเวลาเล่น ที่เป็นอิสระกับเพื่อนๆ ไม่บังคับให้เรียนอย่างเดียวมากเกินไป
  5. สร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ไม่ใช้คำพูดเชิงลบ ใช้การคุยหรือสอนด้วยเหตุผล และชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี และหมั่นทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ร่วมกัน

ข้อแนะนำการใช้เวลากับหน้าจอ ตามช่วงวัย

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics ) ได้กำหนดคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หน้าจอสำหรับเด็กที่เหมาะสม เพื่อการป้องกันตามช่วงวัย  ไว้ดังนี้

  • เด็กเล็กอายุ 0-18 เดือน ไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เลย
  • เด็กอายุ 18-24 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ หรือหากจำเป็นผู้ปกครองควรเลือกเฉพาะสื่อที่มีประโยชน์เท่านั้น

- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้ปกครองควรพาทำกิจกรรม เช่น เล่านิทาน ร้องเพลง ชวนเล่นแบบเคลื่อนไหวร่างกายเยอะๆ เพื่อให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อทุกมัด

  • เด็กอายุ 2-5 ขวบ ควรใช้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง โดยผู้ปกครองควรอยู่ด้วยตลอดเวลาเพื่อให้คำแนะนำ และเลือกเป็นสื่อสร้างสรรค์หรือสื่อที่ให้เด็กๆ ได้ร่วมเล่นด้วยเพื่อให้เกิดพัฒนาการความคิดอ่าน  ควรเล่นเกมหรือดูรายการที่เน้นส่งเสริมพัฒนาการและการศึกษา
  • เด็กอายุ 6-17 ปี ให้จำกัดเวลาการใช้ให้เหมาะสมโดยไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง

- วัย 6-10 ปี อาจฝึกให้เด็กๆ ควบคุมและจัดการเวลาเล่นของตนเองทีละน้อย ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง

- วัย 11 ปีขึ้นไป ควรเริ่มอธิบายให้เด็กเข้าใจผลกระทบของการอยู่กับหน้าจอนานเกินไป และให้ฝึกควบคุมเวลา เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตมากขึ้น
 

อ้างอิง

Theprachakorn
Phyathai
Sikarin
Thaipbs

Copyright © All Right Reserved