![มูลนิธิเด็กโสสะ-4 วิธี จัดการอย่างไร? เมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว-sosthailand]()
พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก ถือเป็นปัญหาต่อเมื่อเกิดบ่อยขึ้นและมีความรุนแรง ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และพัฒนาการตามวัย ซึ่งหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม จะกลายเป็นนิสัยติดตัวไปจนโตขึ้นและจะแก้ไขได้ยาก
สาเหตุของปัญหา ความก้าวร้าวในเด็ก
เด็กแต่ละวัยมีการแสดงออกของความก้าวร้าวไม่เหมือนกัน ได้แก่
- วัยทารก จะแสดงออกร้องไห้เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางร่างกาย เช่น หิว ไม่สบาย หงุดหงิด
- วัยเตาะแตะ จะแสดงความต่อต้านโดยการลงไปนอนดิ้นกับพื้น ทุบตี
- วัยอนุบาล นอกจากการกระทำ จะเริ่มแสดงความก้าวร้าวออกมาทางคำพูด เช่น คำหยาบคาย คำตัดพ้อพ่อแม่ ฯลฯ
ทั้งนี้นอกจากการแสดงออกตามช่วงวัยที่แตกต่างกันแล้ว ความก้าวร้าวในเด็ก อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่
- การเลียนแบบ ครอบครัวที่มีรูปแบบการแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์ในการพูด การกระทำ จะทำให้เด็กเรียนรู้และเรียนแบบพฤติกรรมนั้นมา รวมถึงการเลียนแบบจากบุคคลใกล้ชิด โรงเรียน และสื่อต่างๆ
- เด็กขาดการเรียนรู้ เรื่องการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม อาจเนื่องด้วยผู้ปกครองไม่มีความรู้ในการสอนหรืออบรมเด็ก
- ปัญหาทางด้านสุขภาพ เช่น ความบกพร่องทางด้านสติปัญญา, การมีโรคประจำตัวหรืออุบัติเหตุทางสมอง ก่อให้เกิดการรับรู้ทางระบบประสาทที่ผิดปกติ, โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น เป็นต้น ซึ่งปัญหาทางด้านนี้ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง
![มูลนิธิเด็กโสสะ-ครอบครัวโสสะ]()
ป้องกันก่อนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว
สิ่งที่ดีที่สุด คือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องแสดงออกอย่างเหมาะสม ใช้คำพูดที่ดี ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา หรือสอนลูกด้วยการตีอย่างเดียว จากนั้นจึงค่อยๆ สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ต่างๆ เช่น รัก โกรธ เสียใจ และให้เขารับรู้ถึงการควบคุม การแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น หากรู้สึกโกรธ ให้นับ 1-10 เพื่อผ่อนคลายลง สอนให้รู้จักการให้อภัย อาจพาลูกทำกิจกรรมต่างๆ ที่ให้เขาได้ฝึกควบคุมตนเองเสริมด้วย เช่น เล่นกีฬา เลี้ยงสัตว์ ฝึกรับผิดชอบงานบ้าน เป็นต้น และอีกวิธีการหนึ่งคือ การฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ ใจเย็นมากขึ้นค่ะ แต่หากลูกเริ่มเข้าสู่พฤติกรรมก้าวร้าว ก็จำเป็นต้องใช้วิธีจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อแก้ไขค่ะ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
![มูลนิธิเด็กโสสะ-วั4 วิธี จัดการอย่างไร? เมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว-infograhpic]()
4 วิธี ลดพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก
หากพ่อแม่ ผู้ปกครอง มีการสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้สามารถประเมินได้ว่าลูกของเรานั้นแค่ดื้อหรือเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งหากลูกได้รับการอบรมเลี้ยงดูด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะช่วยให้เขาได้เรียนรู้ ซึมซับ และสามารถปรับพฤติกรรมของตนเองให้ดีได้
1. เข้าใจสาเหตุ
ทำความเข้าใจสาเหตุว่าอะไรทำให้เด็กแสดงออกอย่างก้าวร้าว มีเหตุการณ์หรือเหตุผลอะไร และพฤติกรรมนั้นมักเกิดขึ้นตอนไหน เพื่อได้สามารถวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงได้
2. รับฟังอย่างใจเย็น
ให้โอกาสลูกอธิบายถึงเหตุการณ์หรือความรู้สึก โดยรับฟังอย่างใจเย็น เพื่อให้ลูกเปิดใจว่าเพราะอะไรถึงแสดงออกแบบนั้น เมื่อเด็กเริ่มสงบและใจเย็นขึ้นควรชี้แจงเหตุผลให้เขาฟังว่าเพราะอะไรถึงไม่ควรทำเช่นนั้น โดยใช้น้ำเสียงใจเย็นไม่ใส่อารมณ์ หลีกเลี่ยงคำต่อว่าที่ทำให้เกิดปมด้อย เช่น เด็กก้าวร้าว อันธพาล ฯลฯ (อ่าน 5 คำต้องห้าม ที่ไม่ควรพูดกับลูก)
แต่กรณีที่เห็นว่าลูกมีการกระทำรุนแรง เช่น ทำลายข้าวของเสียหาย หรือทำร้ายตัวเองจนเกิดอันตราย พ่อแม่ควรรีบเข้าไปห้ามทันที โดยกอดไว้เพื่อให้ลูกเริ่มคลายอารมณ์ลงก่อน
3. กำหนดกติกา บทลงโทษ
สอนให้ลูกเข้าใจว่าการกระทำแบบไหนที่ผิดหรือไม่ควรทำ เพราะอะไร โดยกำหนดกติกาหรือบทลงโทษระหว่างกัน เช่น เมื่อรู้สึกแย่หรือโมโหต้องบอกแม่ทันที, หากลูกทำลายข้าวของลูกต้องเป็นคนรับผิดชอบเก็บเอง, หากลูกตีคนอื่นจะต้องขอโทษและถูกงดขนม โดยอย่าลืมอธิบายเหตุผลให้เขาเข้าใจว่าเขาทำผิดตรงไหน เพราะอะไร ให้เขาเข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เช่น "หากลูกตีคนอื่นเขาเจ็บและเสียใจ ถ้าลูกโดนตีบ้างคงรู้สึกไม่ต่างกันใช่ไหม?" "หากลูกโมโหทำลายข้าวของ เมื่อมีคนมาทำลายของเล่นหนู หนูจะรู้สึกเสียใจเหมือนกันไหม?" (อ่าน 5 วิธีลงโทษ โดยไม่ต้องตีลูก)
4. ชื่นชมเมื่อเด็กประพฤติตัวดี
เมื่อลูกประพฤติตัวได้ดีแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยก็อย่าลืมชื่นชม สร้างกำลังใจ และให้รางวัลตอบแทนบ้าง เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีและถูกต้อง อาจไม่จำเป็นต้องทำได้ 100% แม้เขาจะเผลออาละวาดแต่หากสำนึกผิดได้ด้วยตนเอง ก็ควรให้คำชื่นชมและให้กำลังใจถึงความพยายามในการควบคุมอารมณ์ เพื่อกระตุ้นให้เด็กพยายามปรับพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไปค่ะ
เด็ก คือ อนาคตของชาติ เป็นวัยที่ควรได้รับการปกป้องดูแล เพื่อเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ แต่ในสังคมยังคงมีเด็กมากมายที่กำพร้าและขาดโอกาสทางสังคม การบริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ จึงมีความสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนชีวิตทั้งในด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ และการศึกษา เพื่อช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพต่อสังคม เช่น มูลนิธิศุภนิมิตฯ, มูลนิธิบ้านนกขมิ้น, มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม, มูลนิธิเด็กโสสะฯ
มูลนิธิเด็กโสสะฯ ใส่ใจทุกการเติบโตของเด็กๆ
เพราะเด็กทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับ สิทธิเด็ก ที่พึงได้รับ มูลนิธิเด็กโสสะฯ จึงตั่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือเด็กไทยที่กำพร้า ไร้ที่พึ่งพิง เพื่อมอบการเลี้ยงดูระยะยาวผ่านครอบครัวทดแทนถาวร ที่มีแม่โสสะคอยมอบความรัก เติบโตร่วมกับพี่น้องภายในบ้านด้วยสายสัมพันธ์อันดี
![มูลนิธิเด็กโสสะ-แม่โสสะ อบรมการพัฒนาเด็ก]()
![มูลนิธิเด็กโสสะ-แม่โสสะ-ศิลปะบำบัด]()
แน่นอนว่าเด็กๆ ต่างสายเลือด ต่างที่มา ย่อมมีอุปนิสัยและลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้นนอกจากความรู้เรื่องการดูแลเด็กแล้ว แม่โสสะจะได้รับการอบรมต่างๆ อาทิ การอบรมเพื่อเสริมพัฒนาการตามวัยให้กับเด็ก, อบรมด้านโภชนาการเด็ก, อบรมด้านสิทธิเด็ก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, การอบรมและกิจกรรมด้านสุขภาพจิต โดยมีนักสังคมสงเคราะห์คอยประเมินและดูแลพัฒนาการเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อการเลี้ยงดูเด็กทุกคนให้เป็นไปในแนวทางที่ดี เติบโตอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพต่อไปค่ะ
อ้างอิง
โรงพยาบาลมนารมย์
โรงพยาบาลพญาไท
Starfish Labz