4 วิธีฝึกสมาธิลูก ลดภาวะสมาธิสั้น

มูลนิธิเด็กโสสะ-Pride Month : สิทธิทางเพศที่ครอบครัวควรทำความเข้าใจ-แบนเนอร์

เมื่อเด็กเข้าสู่วัย 2 ขวบเป็นต้นไป จะเริ่มให้ความสนใจและต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น โดยช่วงเวลานี้มีความสำคัญต่อการเติบโตของทั้งสมองและร่างกาย ที่มีผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ  หากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ปล่อยเด็กให้อยู่กับหน้าจอมากจนเกินไป จะส่งผลให้ความสามารถทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมของเด็กถูกจำกัดได้ อาจนำไปสู่ อาการสมาธิสั้น หรือ โรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-Attention deficit / Hyperactivity disorder) (Pseudo-ADHD) เป็นภาวะที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้น เนื่องจากการปล่อยให้เด็กเติบโตมากับเทคโนโลยี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไอแพด ที่มากจนเกินไป จะทำให้โอกาสในการทำกิจกรรมด้านอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างเสริมสมาธิหรือพัฒนาทักษะสมองและร่างกายในด้านอื่นๆ นั้นขาดหายไป

มูลนิธิเด็กโสสะ-ADHD

โรคสมาธิสั้นเกิดจากอะไร?

โรคสมาธิสั้น (ADHD) พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 – 7 ปี เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดอาการซนมากกว่าปกติ อยู่ไม่นิ่ง เสียงดัง ขาดสมาธิ ขี้ลืม ใจร้อน ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม เนื่องจากเด็กจะไม่มีสมาธิในการทำงานหรือเล่น ไม่สามารถตั้งใจฟังสิ่งต่างๆ ได้นาน

สาเหตุอาจเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมอง โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ รวมถึงการที่คุณแม่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว ในระหว่างตั้งครรภ์ ก็จะมีโอกาสทำให้ลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น 30-40%  โดยสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูไม่ได้ทำให้เด็กเกิดโรคสมาธิสั้น เป็นเพียงปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้นเทียมได้
 

สมาธิสั้นเทียม คืออะไร?

สมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD) เป็นภาวะที่มีอาการเหมือนกับโรคสมาธิสั้น แต่ต่างกันที่สาเหตุ เนื่องจากสมาธิสั้นเทียมจะเกิดจากการเลี้ยงดู พัฒนาการ และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ยิ่งยุคปัจจุบัน เด็กมักใช้เวลาอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไอแพด หรือดูโทรทัศน์เป็นเวลานานโดยขาดการควบคุมดูแล ก่อให้เกิดภาวะสมาธิสั้นเทียม คือ จะมีนิสัยใจร้อน หุนหันพลันแล่น ไม่สามารถรอคอยได้ ขาดทักษะทางด้านสังคม มีพัฒนาการการพูดและการสื่อสารที่ล่าช้ากว่าเกณฑ์ปกติ

แม้การเล่นสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตเป็นเวลานานจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น แต่จะทำให้เด็กขาดสมาธิและการควบคุมตนเอง ยิ่งหากเด็กเป็น “โรคสมาธิสั้น” อยู่ก่อนแล้วอาการจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ใจร้อน วู่วาม อารมณ์ฉุนเฉียว นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อสายตาและกล้ามเนื้อมืออีกด้วย ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและใช้เวลาแต่พอดี จึงจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ มากกว่าค่ะ

มูลนิธิเด็กโสสะ-4 วิธีฝึกสมาธิลูก ลดภาวะสมาธิสั้น-infographic

4 วิธีฝึกสมาธิลูก ลดภาวะสมาธิสั้น

เมื่อเด็กมีสมาธิ สามารถนิ่งหรือจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานระยะหนึ่ง จะเกิดการทำงานของสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) ซึ่งทำหน้าที่ในส่วนของการควบคุมความจำ ความคิด และการแก้ปัญหา ทำให้คลื่นสมองอัลฟ่า (Alpha brainwave) ทำงานได้ดี ส่งผลให้เด็กเกิดสมาธิ การจำ การเรียนรู้ และการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น การฝึกสมาธิสำหรับเด็กจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้สมองพัฒนาได้ดีแล้ว ยังช่วยให้มีสติ มีจิตใจที่สงบยิ่งขึ้นค่ะ

วันนี้น้องโสสะขอแนะนำ 4 วิธีฝึกสมาธิลูก เพื่อช่วยลดการเกิดอาการสมาธิสั้น ป้องกันภาวะสมาธิสั้นเทียม และเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อยได้เติบโตอย่างมีคุณภาพกันค่ะ

มูลนิธิเด็กโสสะ-4 วิธีฝึกสมาธิลูก ลดภาวะสมาธิสั้น-นั่งสมาธิ

 

  1. นั่งสมาธิ ฝึกลมหายใจ
    การนั่งสมาธิ เป็นวิธีพื้นฐานที่ช่วยสร้างสมาธิได้ดีทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งยังช่วยให้จิตใจสงบผ่อนคลาย การฝึกให้ลูกได้นั่งสมาธิ ฝึกลมหายใจอย่างถูกต้องสม่ำเสมอตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากจะช่วยให้สมองปลอดโปร่งทำงานได้ดีแล้ว ยังทำให้เขาเติบโตอย่างใจเย็นและมีสติค่ะ
  2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้
    จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้หรือทำการบ้าน โดยเป็นห้องหรือส่วนหนึ่งของบ้านที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวนหรือสิ่งเร้ารอบข้าง เช่น โทรทัศน์ เกม เป็นต้น เพื่อให้เด็กสามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียนหรือกิจกรรมที่ทำ สามารถกำหนดเวลาและสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เด็กโฟกัสมากขึ้น แต่ไม่ควรกดดันหรือบังคับให้ทำ จนเกิดเป็นความเครียดค่ะ
  3. ทำกิจกรรมเสริมพัฒนาการ
    เด็กในแต่ละช่วงอายุจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป สำหรับเด็กเล็กอยู่ในช่วงอยากรู้อยากเห็นจึงยิ่งต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กอายุ 7-12 ปี จะเริ่มเล่นเกมหรือทำกิจกรรมที่มีกฎกติกาได้

    ตัวอย่างเกมหรือกิจกรรมที่ช่วยสร้างสมาธิให้กับเด็ก
    • เล่นเกมเสริมพัฒนาการ เช่น ต่อจิ๊กซอว์ เกมจับคู่ภาพ ปริศนาอักษรไขว้ (Crossword)

    • ฝึกเล่นดนตรี เช่น กีตาร์ เปียโน ร้องเพลง

    • ทำงานศิลปะ เช่น วาดรูประบายสี ร้อยลูกปัด ทำงานประดิษฐ์

    • เล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล วิ่ง ว่ายน้ำ

มูลนิธิเด็กโสสะ-4 วิธีฝึกสมาธิลูก ลดภาวะสมาธิสั้น-ศิลปะระบายสี

การเล่นเกมหรือทำกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้เด็กๆ ได้ใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำเป็นเวลาที่เหมาะสม ได้ใช้ทั้งกล้ามเนื้อร่างกายและความคิด ทำให้เกิดการพัฒนาสมองทั้งด้านสติปัญญา (IQ) และอารมณ์ (EQ) นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ในด้านที่หลากหลาย เพื่อค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบและเรียนรู้นำไปสู่เส้นทางสายอาชีพได้ในอนาคตค่ะ

อ่านเพิ่มเติม

4. แบ่งงาน สร้างความรับผิดชอบ
ลองแบ่งหน้าที่ให้ลูกรับผิดชอบงานเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านตามอายุที่เขาสามารถทำได้ค่ะ เช่น ให้ลูกช่วยเตรียมกับข้าว หยิบจับสิ่งของ ช่วยจัดเรียงหนังสือ ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ รวมถึงการฝึกระเบียบวินัยด้วยกิจวัตรประจำวัน เช่น ฝึกแต่งตัว จัดเก็บข้าวของด้วยตนเอง จัดเตรียมและทานอาหารเอง ฯลฯ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำช่วยเหลือ และเมื่อลูกสามารถทำตามหน้าที่ได้ดีก็อย่าลืมที่จะเชยชมหรือให้รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะคะ

มูลนิธิเด็กโสสะ-4 วิธีฝึกสมาธิลูก ลดภาวะสมาธิสั้น-ต่อจิ๊กซอว์

ให้เด็กได้เติบโตอย่างแข็งแรงในทุกด้าน

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้การช่วยเหลือเด็กไทยที่สูญเสียครอบครัว ไร้ที่พึ่งพิง และเด็กที่เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้ง ด้วยการรับเข้าสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวทดแทนถาวร ในหมู่บ้านเด็กโสสะทั้ง 5 แห่งทั่วประเทศ ไม่เพียงแค่เด็กๆ จะได้รับความรักความอบอุ่น เติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และได้รับการศึกษาตามหลักสูตรเท่านั้น แต่ในการเลี้ยงดูและกิจวัตรประจำวัน เด็กๆ จะได้รับการสอนเพื่อเติบโตอย่างพึ่งพาตนเองได้ ทั้งน้องคนเล็กและพี่คนโตในบ้าน ต่างมีการแบ่งหน้าที่เพื่อช่วยเหลือกันค่ะ

โดยหนึ่งในกิจกรรมยามเย็น ทุกหมู่บ้านเด็กโสสะจะมีการรวมตัวกันสวดมนต์นั่งสมาธิ เพื่อช่วยเสริมสร้างสมาธิและให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลายจิตใจจากความเครียดอีกด้วย
 

ร่วมบริจาค

เพื่อมอบชีวิตที่มีคุณภาพให้กับเด็กกำพร้า

อ้างอิง

Samitivej Hospitals
Medpark Hospital   
M.O.M

Copyright © All Right Reserved