เงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร
กันยายน 7 2565

เงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร

หลายๆ คนอาจยังไม่คุ้น หรือรู้สึกว่าเรื่องของ “เงินเฟ้อ” นั้นเป็นสิ่งไกลตัว แต่แท้จริงแล้วภาวะเงินเฟ้อนั้นอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การเดินทาง ทุกสิ่งที่เราต้องใช้จ่ายเพื่อดำเนินชีวิตนั้นล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อทั้งสิ้น

เงินเฟ้อ คืออะไร?

ภาวะเงินเฟ้อ(Inflation) คือ การที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินเฟ้อปรับตัวสูงจนเกินไป จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในการแบกรับค่าใช้จ่าย หรือ ค่าครองชีพ ที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ จำนวนเงินเท่าเดิมแต่ซื้อของได้น้อยลง หรือ ต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อของเท่าเดิม เช่น จากเดิมปีที่แล้วเราเคยซื้อข้าวผัดกะเพราในราคาจานละ 45 บาท แต่ปีนี้เราจะต้องซื้อข้าวผัดกะเพราจานเดิมในราคา 60 บาท

เงินเฟ้อ-ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร-ราคา-ผัดกระเพรา

สาเหตุของเงินเฟ้อ เกิดจากอะไร?

หลักๆ เลยภาวะเงินเฟ้อเกิดจาก ความต้องการซื้อที่มากกว่าความสามารถในการขาย เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น หรือผลิตได้น้อยลง

โดยสาเหตุหลักมาจากสินค้ากลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นต้นทุนในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้าและบริการ ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปีก่อนๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัจจัยด้านภัยธรรมชาติ โรคระบาด ที่ส่งผลให้วัตถุดิบต่างๆ อาทิ ผักสด เนื้อหมู ไข่ ฯลฯ มีปริมาณการผลิตที่ลดลง

เช่น ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ราคาเนื้อหมูได้ทะยานสูงขึ้นมากกว่ากิโลกรัมละ 200 บาท เนื่องจากขณะที่จำนวนผลผลิตเนื้อหมูมีปริมาณลดลง แต่ความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ส่งผลให้มีเนื้อหมูไม่พอขาย ราคาเนื้อหมูจึงแพงขึ้นตามกลไกตลาด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมอาหาร

เงินเฟ้อ ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอย่างไร?

ในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมานี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.61% ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่พุ่งไปถึง 7.66%  นับว่าเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และในอนาคตคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก วันนี้น้องโสสะนำข้อมูลราคาล่าสุด มาลองเปรียบเทียบราคาสินค้า ใน 1 ปีกันค่ะ ว่าช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2565 กับปี 2564 สินค้าอุปโภคบริโภคหลักๆ ที่จำเป็นแต่ละอย่างนั้นราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่บ้าง

เปรียบเทียบราคาสินค้า เดือนสิงหาคม ปี 2564 กับปี 2565

เปรียบเทียบ-ราคา-เงินเฟ้อ-หมูเนื้อแดง-อกไก่-กุ้ง-ไข่ไก่-น้ำมัน

**เปรียบเทียบราคาขายปลีก ณ วันที่ 20 ส.ค. 65
ที่มา : กรมการค้าภายใน

  • หมูสามชั้น  ราคา 240 บาท เพิ่มขึ้น 72.5 บาท คิดเป็น 43%
  • หมูเนื้อแดง ราคา 205 บาท เพิ่มขึ้น 67.5 บาท คิดเป็น 49%
  • อกไก่ ราคา 105 บาท เพิ่มขึ้น 37.5 บาท คิดเป็น 55.6%
  • น่องไก่ ราคา 87.5 บาท เพิ่มขึ้น 25 บาท คิดเป็น 40%
  • เนื้อวัว ราคา 255 บาท เพิ่มขึ้น 5 บาท คิดเป็น 2%
  • กุ้งขาว(60 ตัว/กก.) ราคา 205 บาท เพิ่มขึ้น 20 บาท คิดเป็น 10.8%
  • ไข่ไก่ (เบอร์ 0) ราคา 5 บาท เพิ่มขึ้น 0.55 บาท คิดเป็น 12.4%
  • ผักชี ราคา 175 บาท เพิ่มขึ้น 45 บาท คิดเป็น 34.6%
  • พริกขี้หนูสวน ราคา 185 บาท เพิ่มขึ้น 140 บาท คิดเป็น 311%
  • คะน้า ราคา 57.5 บาท เพิ่มขึ้น 20 บาท คิดเป็น 53%
  • กระเทียมแห้งหัวกลาง ราคา 102.5 บาท เพิ่มขึ้น 30 บาท คิดเป็น 41%
  • น้ำมันปาล์ม ขวด 1 ลิตร ราคา 58.5 บาท เพิ่มขึ้น 15.5 บาท คิดเป็น 36%
  • น้ำมันถั่วเหลืองขวด 1 ลิตร ราคา 67 บาท เพิ่มขึ้น 14 บาท คิดเป็น 26.4%
  • ข้าวหอมมะลิ 15 กก. ราคา 590 บาท เพิ่มขึ้น 50 บาท คิดเป็น 9%
  • ข้าวขาว 15 กก. ราคา 375 บาท เพิ่มขึ้น 40 บาท คิดเป็น 12%
  • ก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 กก. ราคา 393 บาท เพิ่มขึ้น 75 บาท คิดเป็น 23.6%
  • แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 37.15 บาท เพิ่มขึ้น 8.4 บาท คิดเป็น 29%
  • น้ำมันดีเซล ราคา 34.94 บาท เพิ่มขึ้น 6.65 บาท คิดเป็น 23.5%
     

จากสัดส่วนที่เห็นนั้น บางอย่างแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาไปไม่มาก แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว จากเวลาเพียง 1 ปีนั้นนับว่ามีราคาเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เมื่อรวมๆ กับสิ่งที่เราต้องกินต้องใช้ในแต่ละวัน ถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เราต้องแบกรับเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลกระทบให้ต้องมีการปรับตัวและวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหา เงินไม่พอใช้ ค่ะ

เงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อเด็กกำพร้าอย่างไร?

ภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กที่กำพร้าและขาดโอกาสในครอบครัวโสสะ ทั้งด้านอาหารและโภชนาการ ยาและการดูแลสุขภาพ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ที่สูงขึ้น เพราะเด็กทุกคนเองต่างก็ต้องการการดูแลตามวัยที่เหมาะสม เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สามารถประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตโดยไม่เป็นภาระต่อสังคมค่ะ

แม้ว่าเด็กๆ ทุกคนในมูลนิธิเด็กโสสะฯ จะได้รับความเมตตาจากผู้บริจาคทุกท่านเสมอมา แต่ทุกคนก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงให้มากที่สุดเช่นกัน โดยคุณแม่โสสะจะคอยสอนและปลูกฝังลูกทุกคนให้รู้จักคุณค่าของเงินที่ได้รับมา การพึ่งพาตนเองอย่างรอบด้าน และความเพียรขยันหมั่นประหยัดอดออมค่ะ ซึ่งเด็กทุกคนจะได้รับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผ่านกิจวัตรประจำวัน อาทิ
 

มูลนิธิเด็กโสสะ-ปลูกต้นไม้-ครอบครัว-พี่น้อง

มูลนิธิเด็กโสสะ-ต้นกล้วย-พี่น้องโสสะ

การปลูกผักสวนครัวและผลไม้ เพื่อทำอาหารรับประทานเองภายในบ้าน เพราะทุกวันเด็กๆ กับคุณแม่จะต้องช่วยกันเตรียมอาหารรับประทานด้วยกัน ภายในครอบครัวค่ะ
 

มูลนิธิเด็กโสสะ-พี่น้องโสสะ-ล้างจาน

มูลนิธิเด็กโสสะ-เด็กโสสะ-ช่างแอร์

ช่วยกันแบ่งหน้าที่ทำงานบ้าน ทำความสะอาด สำหรับน้องๆ เยาวชนที่เรียนวิชาด้านงานช่าง ก็จะช่วยคุณแม่ซ่อมแซมบ้านและเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงดูแลประหยัดน้ำ-ไฟอยู่เสมอ

ขอบพระคุณทุกความรัก ที่เมตตาน้องโสสะ

ท่ามกลางผลกระทบจากสถานการณ์ของเงินเฟ้อในปัจจุบัน ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กๆ สูงมากขึ้น มูลนิธิเด็กโสสะฯ ขอขอบพระคุณทุกจิตเมตตา ที่คอยห่วงใยและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กกำพร้าทุกคนเสมอมา ทำให้น้องๆ ทุกคนได้เติบโตด้วยความรัก ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดี มีชีวิตใหม่ที่มีคุณค่าอีกครั้งค่ะ


ร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กกำพร้า

ttb-edonation-ทีเอ็มบีธนชาต-qrcode-donate-sosthailand-บริจาค-มูลนิธิเด็กโสสะ
ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต(TTB) บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 1711021871
 

ที่มา
กรมการค้าภายใน
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2565
กรุงเทพธุรกิจ