ธันวาคม 1 2566
Child Safe & Friendly Environment : ยุติความรุนแรงต่อเด็ก-ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน จัดงาน Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก - ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย และการเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ (National Launching UN CRC GC26 in Thailand) ณ Helix Garden ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์
โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) พร้อมด้วยนางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ศ.ดร.บุญชัย หงส์จารุ ประธานอำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย นางสาวอิสราภรณ์ ดาวราม กรรมการขับเคลื่อนเครือข่ายสิทธิเด็ก ประเทศไทย และเปิดตัววิดีทัศน์ Protect Children's Rights and Our Planet on UN General Comment No. 26
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
“กระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน จัดงาน Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก - ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย และการเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ (National Launching UN CRC GC26 in Thailand) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย” และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานหรือแนวปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศ สำหรับการขับเคลื่อนงานสิทธิเด็ก กระทรวงพม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชนขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) การเปิดตัว “ความเห็นทั่วไป ข้อ 26” ของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ” เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 2) การจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการทำแผนรับมือภัยพิบัติเพื่อคุ้มครองเด็กในภาวะฉุกเฉิน 3) การส่งเสริมสภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียน องค์กรเด็กเยาวชน ขับเคลื่อนงานสิทธิเด็กกับสิ่งแวดล้อมผ่านกลไก เช่น กิจกรรม Zero Waste และเยาวชนรักษ์โลก รวมถึงจัดทำสื่อสร้างความตระหนักรู้สำหรับเด็กด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และออกแบบที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 4) ความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการวางแผนการทำงานคุ้มครองเด็กในระดับพื้นที่ และซักซ้อมหัวหน้าหน่วยงานและบุคลากรในภาคใต้ เกี่ยวกับบทบาทกระทรวง พม. ในการเตรียมความพร้อมกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เป็นต้น”
โดยภายในงานตัวแทนเยาวชนจากมูลนิธิเด็กโสสะฯ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันหาแนวทางการมีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ภายใต้แนวคิด “สิทธิเด็กในการสิ่งแวดล้อมที่ดี” ให้กับเยาวชนและสาธารณชนได้รับรู้มากขึ้น
น้องกานต์ เยาวชนจากหมู่บ้านเด็กโสสะภูเก็ต
“ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศ ขยะมูลฝอยที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ภาวะโลกร้อน ความแห้งแล้งและโรคระบาด สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย รวมไปถึงด้านสุขภาพด้านจิตใจ เด็กทุกคนควรมีชีวิตและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดโปร่ง ปลอดภัย มีพื้นที่ได้วิ่งเล่น และใช้ชีวิต รวมไปถึงการได้รับประทานอาหารและน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5. และการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกโรงเรียนปิดการเรียนการสอนไปน้องๆ เด็กๆ รวมถึงตัวหนูเองไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรม ดังนั้นในฐานะที่หนูเป็นตัวแทนของเยาวชนมูลนิธิเด็กโสสะฯ พวกเราได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การทำกิจกรรม save oceans save life การทำถังขยะรีไซเคิลจากห่วงยาง ขวดพลาสติก รวมไปถึงการวาดรูป ระบายสีถังขยะ นำไปวางในจุดต่าง ๆ ตามชายหาด , การปลูกป่าชายเลน เพื่อคืนบ้านให้กับสัตว์น้ำ ตลอดจนการทำฝายกั้นน้ำร่วมกับคนในชุมชน เพื่อได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบร่วมกันต่อสังคม
ถ้าหนูได้มีโอกาสเข้ามาเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย สิ่งที่หนูจะทำคือ ว่าด้วยเรื่องสิทธิของเด็กในกลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากยังมีกลุ่มน้อง ๆ ที่ยังถูกมองข้ามหรือเกิดการเลือกปฏิบัติ หนูอยากเป็นกระบอกเสียงเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้ได้มีสภาพแวดล้อมรวมถึงการศึกษา อาหารที่ดี ปราศจากอันตราย ทั้งด้านของร่างกายและจิตใจ พวกเราได้มีโอกาสเติบโตขึ้นมาในหมู่บ้านที่อบอุ่น ร่มรื่น ได้รับความรักและการเลี้ยงดูที่ดี หนูเชื่อว่าหากปัญหาเหล่านี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงและการช่วยเหลือที่ครอบคลุม เด็กๆ และเยาวชนทุกคนจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ”
นายฉัตรชัย เทพเสนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และหัวหน้าแผนกโปรแกรมการเลี้ยงดูเด็กมูลนิธิเด็กโสสะฯ
“การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชน โดยเชื่อว่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการดูแล พัฒนา และปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในเรื่องของ “สิทธิเด็กในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี” มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานบนพื้นฐานของ “สิทธิเด็ก” เป็นสำคัญ โดยมีการให้ความรู้ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพราะเด็กไม่ควรถูกละเมิดสิทธิจากผลกระทบของภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ครอบครัวและชุมชนสามารถดูแลเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมขอเชิญชวนให้ทุกท่านช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกที่สวยงามของทุกคน”
ทั้งนี้ ในปี 2566 มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ มุ่งเน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ร่วมกับเยาวชน และภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน โดยเน้นให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงศักยภาพ ความคิดเห็น และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักแก่สาธารณชน เแสดงเจตนารมณ์และความร่วมมือ ต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กความเห็นทั่วไปข้อ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อมโดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประดับประเทศ รวมทั้งสะท้อนปัญหาสภาพแวดล้อมในชุมชนไม่ปลอดภัย ไร้พื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก และมีแหล่งมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน โดยได้ปลูกฝังเด็กๆ ให้ความสำคัญรู้จักรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถออกไปพึ่งพาตนเองได้ในสังคมแบบพอเพียงอย่างยั่งยืน เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านการอบรมต่าง ๆ
พร้อมปลูกฝังให้เด็กๆ และเยาวชนทำแปลงปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ ทำโรงเรือนเพาะเห็ด ปลูกต้นไม้ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการพึ่งพาตนเอง เห็นคุณค่าของอาหาร และเด็กๆ จะได้เติบโตไปพร้อมกับต้นไม้และความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน