แตกต่างอย่างเข้าใจเมื่อลูกเป็น LGBTQ

มูลนิธิเด็กโสสะ-แตกต่างอย่างเข้าใจเมื่อลูกเป็น-LGBTQ

ทราบไหมคะ? ไม่เพียงแค่ในมนุษย์ แต่เรายังพบ ความหลากหลายทางเพศ ได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเรื่องเพศนั้นเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายโดยธรรมชาติที่มีมานาน เพียงแต่ในสมัยก่อน ความหลากหลายทางเพศ หรือที่เราเรียกบุคคลที่มีลักษณะจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพว่า ตุ๊ด เกย์ กะเทย ทอม ดี้ รวมถึงภาพจำที่ว่าชาย-หญิงต้องคู่กันหากแตกต่างจากนั้นจะถือว่าเป็นสิ่งที่แปลก และยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวาง ซ้ำยังอาจถูกริดรอนสิทธิในรูปแบบต่างๆ ทำให้ผู้คนมักปกปิดตัวตนเพราะกลัวว่าจะโดนบูลลี่  (Bully) หรือคิดว่าสิ่งที่ตนเป็นคือความผิดปกติที่แปลกแยกออกจากสังคม โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่มักถูกล้อเลียนเพียงเพราะมีจิตใจที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตนเอง กระทั่งครอบครัวที่เป็นกลุ่มคนใกล้ชิดที่สุดยังไม่เข้าใจและไม่ให้การยอมรับ บางครอบครัวพยายามจะพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเลยทีเดียว จนกลายเป็นความกดดัน เป็นปมด้อยเมื่อเติบโตขึ้น และอาจร้ายแรงถึงขั้นกลายเป็นโรคซึมเศร้าที่อันตรายถึงชีวิต

 

ทำความเข้าใจ LGBTQ คืออะไร?

เพราะโลกนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเพศชายและหญิง LGBTQ จึงกลายเป็นสิ่งที่ใช้เรียกตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเริ่มใช้จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและนักสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ ตั้งแต่ช่วงกลางยุค 80 ในระยะแรกนั้นมีตัวย่อเพียง 4 ตัว คือ LGBT แต่เมื่อมีเพศวิถีที่หลากหลายมากขึ้นจึงมีการเติมตัวอักษรต่าง ๆ และเครื่องหมายบวกเข้ามาภายหลัง เช่น LGBTQ+, LGBTQIA+ เป็นต้น

มูลนิธิเด็กโสสะ-LGBTQ+ หมายถึงอะไร?

 

ความหมายของอักษรย่อ LGBTQ+

  • L (Lesbian) คือ ผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง
  • G (Gay) คือ ผู้ชายที่มีรสนิยมชอบผู้ชาย หรืออาจกล่าวรวมว่าคือคนที่ชอบเพศเดียวกัน (homosexual)
  • B (Bisexaul) คือ คนที่มีรสนิยมสามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • T (Transgender) คือ บุคคลข้ามเพศ การเปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตนไปเป็นเพศตรงข้าม อาจเป็นผู้หญิงที่ข้ามเพศมาจากผู้ชาย หรือผู้ชายที่ข้ามเพศมาจากผู้หญิง
  • Q (Queer/Questioning) คือ คนที่ไม่ได้จำกัดกรอบว่าจะต้องมีรสนิยมชอบเพศไหน หรือกำลังตามหาตัวตน
    + คือ ความหลากหลายทางเพศด้านอื่นๆ เช่น
    • I Intersex คือ กลุ่มคนที่มีสองเพศ (ในทางการแพทย์) ทั้งโครโมโซม และอวัยวะเพศ
    • A Asexual คือ กลุ่มคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น
       

ธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของความหลากหลายและเท่าเทียม

ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) อันเป็นสัญลักษณ์ของ LGBTQ ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1977 โดย Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนผู้เป็นเกย์อย่างเปิดเผย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลงคลาสสิก Over the Rainbow จากภาพยนตร์เรื่อง The Wizard from Oz นำมาสู่ธง 8 สีที่มีความหมายต่างๆ ได้แก่

SOSThailand-Supporting-your-LGBTQ-child-Gay

  • สีชมพู Hot pink สื่อความหมายถึงเรื่องเพศ (Sex)
  • สีแดง หมายถึงชีวิต (life)
  • สีส้ม หมายถึงการเยียวยา (healing)
  • สีเหลือง หมายถึงแสงแดด (sunlight)
  • สีเขียว หมายถึงธรรมชาติ (nature)
  • สีฟ้า Turquoise หมายถึงศิลปะ ความผสานกลมกลืน (art)
  • สีคราม หมายถึงความสามัคคี (harmony)
  • สีม่วง หมายถึงจิตวิญญาณอันแน่วแน่ (Spirit)
     

SOSThailand-Supporting-your-LGBTQ-child-Gay_flag_current

ต่อมาได้มีการลดทอนลงเหลือเพียง 6 สี ได้แก่ สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน(เปลี่ยนจากสีคราม) และสีม่วง อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

 

ลูกเป็น LGBTQ ผิดปกติไหม?

เรื่องเพศและรสนิยมความชอบ เป็นเรื่องทางธรรมชาติที่มีกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยส่งเสริม เหมือนกับความชอบเรื่องสี อาหาร ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่ใช่ความผิดปกติของร่างกาย หรือจิตใจ แต่เป็นเพียงความแตกต่างที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ในทางการแพทย์จึงได้มีการถอดเรื่องรสนิยมทางเพศออกจากอาการผิดปกติ โดยไม่ถือว่าเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อลูกเป็น LGBTQ สิ่งที่ควรทำ ไม่ใช่การพาไปหาหมอ แต่คือการทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น มองในตัวตนของเขามากกว่าเพศสภาพหรือความชอบ

 

สิทธิเด็ก กับ LGBTQ

สิทธิเด็ก นั้นเป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ ผิว ศาสนา ฯลฯ ดังนั้นไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศแบบใด ทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ปัจจุบันสังคมเริ่มให้การยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และรู้จักกับคำว่า LGBTQ+ มากขึ้น ผู้คนเริ่มกล้าที่จะยอมรับและเปิดเผยตัวตนกับสังคม โดยในประเทศไทยเองก็ได้มีการแสดงออกและเรียกร้องสิทธิของคู่รัก LGBTQ มากขึ้น แต่กระนั้นด้วยขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยางนาน จึงอาจไม่ใช่ทั้งหมดของสังคมที่จะเปิดใจยอมรับ แต่ก่อนที่เด็กจะเกิดความมั่นใจในตัวตนของตนเองและกล้าที่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุขนั้น ครอบครัว คือพื้นที่สำคัญของพวกเขาที่ต้องเปิดใจยอมรับก่อน

มูลนิธิเด็กโสสะ-แตกต่างอย่างเข้าใจ-LGBTQ-ผิดปกติไหม-พ่อแม่ควรทำอย่างไร

 

ปรับความคิดอย่างไรเมื่อลูกเป็น LGBTQ

1. ศึกษา ทำความเข้าใจ

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ ว่าสิ่งที่ลูกกำลังเป็นอยู่นั้นคืออะไร การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญ หรือการปรึกษากับนักจิตวิทยาเด็กเพื่อขอคำแนะนำในการเลี้ยงดูหรือปฏิบัติเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยได้ ซึ่งในทางการแพทย์ "ความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่โรค หรือความผิดปกติ" ไม่ใช่สิ่งที่ต้องพาลูกไปหาหมอเพื่อรักษา แต่เป็นการทำความเข้าใจเพื่อทำให้ลูกได้รู้จักกับสิ่งที่ตัวเองเป็น คอยสังเกตพฤติกรรม และช่วยรับฟังแก้ไขปัญหาที่ลูกต้องเผชิญทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สอนให้ลูกปกป้องตนเองจากการโดนละเมิดหรือกลั่นแกล้ง

          1.1 ในกรณีเด็กเล็ก ความเข้าใจของครอบครัวยิ่งสำคัญมาก ที่จะช่วยนำพาให้เขาเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมั่นใจ กล้าเปิดใจพูดคุยสิ่งต่างๆ กับคุณพ่อคุณแม่มากกว่าเลือกที่จะปิดบังไว้

         1.2 ในกรณีเด็กโต นอกจากการหาความรู้ด้วยตนเอง การพูดคุยทำความเข้าใจให้ลูกช่วยอธิบายในสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขาต้องการ จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้มากขึ้น
 

2. พูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจ

ก่อนอื่นเลย การแสดงออกในชีวิตประจำวันเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจและเปิดกล้าพูดคุยปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ การที่พ่อแม่แสดงออกถึงทัศนคติที่ดี พูดคุยเรื่องเพศ รวมถึงเรื่องทั่วไปกับลูกในชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติ จะส่งผลให้ลูกกล้าเปิดใจคุยได้มากขึ้น เช่น ไม่แสดงออกว่ารังเกียจเวลาเห็นข่าวเกี่ยวกับเพศที่ 3 หรือ LGBTQ เป็นต้น

การพูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจ และรับฟังสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสารด้วยความตั้งใจจริง ใช้เหตุและผลในการพูดคุยทำความเข้าใจกัน จะนำไปสู่ความคิดเห็นที่สามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้ ในกรณีที่เราสังเกตเห็นตั้งแต่ยังเด็กว่าลูกนั้นมีพฤติกรรมที่อาจเป็น LGBTQ คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องใส่ใจเพราะลูกอาจมีโอกาสถูกบูลลี่ หรือล่วงละเมิดทางเพศได้
 

3. ยอมรับ ในสิ่งที่ลูกเป็น
คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมรับให้ได้ว่าลูกไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่ ทุกคนต่างต้องเติบโตและมีชีวิตเป็นของตนเอง ให้ครอบครัวสามารถเป็น พื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone สำหรับลูก ไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าแปลกแยกหรือถูกกีดกันเพียงเพราะความแตกต่าง ไม่เปรียบเทียบลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศหรือเรื่องใดก็ตาม เพราะไม่มีใครดีกว่าหรือด้อยกว่า ทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน และอย่าลืมส่งเสริมให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตนเอง สร้างความมั่นใจที่จะกล้าเผชิญหน้ากับสังคมได้ในอนาคต

มีงานวิจัยรองรับว่าเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ยอมรับ 90% เชื่อว่าจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข แต่เด็กที่พ่อแม่ไม่ยอมรับมีเพียงแค่ 10% ที่คิดว่าตัวเองจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข ดังนั้นการยอมรับจากครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
 

4. อยู่เคียงข้างเพื่อสนับสนุน
ครอบครัวควรสื่อสารพูดคุยในเชิงบวกกันเสมอ คอยอยู่เคียงข้างเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจลูก ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้และตามหาตัวตนของตนเองโดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยห่วงใยและให้คำแนะนำ ชื่นชมเมื่อลูกทำในสิ่งที่ดีและอบรมสั่งสอนเมื่อเขาทำในสิ่งที่ผิด โดยไม่ใช้รูปลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศมาเป็นข้อติเตียน แต่สั่งสอนเขาในฐานะ "ลูก" คนหนึ่ง

 

รักในสิ่งที่เป็น ยอมรับทุกความแตกต่าง

มูลนิธิเด็กโสสะ-Blog-Supporting-your-LGBTQ-child-พี่น้อง-ครอบครัว

 

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้การช่วยเหลือเด็กไทยที่กำพร้า ไร้ที่พึ่งพิง และเด็กที่เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้ง โดยให้ความสำคัญกับ สิทธิเด็ก ไม่ว่าเด็กจะมีที่มาอย่างไร มีตัวตนแบบไหน เด็กทุกคนล้วนต้องการความรัก และการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ เพื่อเติบโตไปมีอนาคตที่สดใส สามารถอยู่อย่างพึ่งพาตนเองได้ เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อสังคม มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน แต่ละช่วงวัย เพื่อดูแลให้เด็กๆ มีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ   

เด็กๆ จะได้เติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัย ด้วยความอบอุ่นจากครอบครัวโสสะ ได้ศึกษาเรียนรู้ทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต ที่สำคัญ พวกเขาจะได้ใช้ “โอกาสที่สอง” ที่ผู้บริจาคทุกท่านมอบให้ด้วยหัวใจ เพื่อเลือกตัวตนและเส้นทางเดินของพวกเขาเอง

 

ร่วมมอบโอกาสเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมให้กับเด็กกำพร้า

TTB-ทีเอ็มบีธนชาต-QRCode-edonation

1711021871

 

อ้างอิง
iStrong Mental Health
Petcharavej Hospital
Princ Hospital Suvarnabhumi
กรุงเทพธุรกิจ

Copyright © All Right Reserved