การกลั่นแกล้ง (Bully) ในเด็ก เป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะวัยเด็กเป็นวัยเปราะบาง อยู่ในช่วงของการเรียนรู้จดจำเพื่อเติบโต ซึ่งผลกระทบจากการถูกกลั่นแกล้งนั้น อาจนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความเข้าใจถึงวิธีการสอนให้ลูกรู้จักดูแลตัวเองในเบื้องต้น เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นค่ะ
1. ทำความเข้าใจว่าการกลั่นแกล้ง (Bully) คืออะไร
คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจและแยกแยะระหว่างการกลั่นแกล้งกับการเข้าใจผิด หรือความไม่พอใจกันที่เกิดจากการเล่นแบบเด็กๆ เพื่อสอนให้ลูกรู้จักและเข้าใจถึงการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้น
อย่างไรถึงเรียกว่าการกลั่นแกล้ง (Bully)
- การกลั่นแกล้งทางร่างกายที่ก่อให้เกิดความรุนแรง อาทิ การชกต่อย ผลัก ตบตี ทำลายข้าวของ
- การกลั่นแกล้งจากวาจาที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ อาทิ การด่าทอ ข่มขู่ เหยียดล้อเลียนปมด้อย
- การกลั่นแกล้งทางสังคม อาทิ การกีดกันออกจากสังคม รวมกลุ่มกันแบนหรือไม่พูดด้วย
- การกลั่นแกล้งทางโซเชียล (Cyber bullying) อาทิ การข่มขู่ ใส่ร้าย แสดงความคิดเห็นด้วย
ถ้อยคำเหยียดหรือหยาบคาย รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม ผ่านทางสื่อโซเชียลต่างๆ อันก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจ
2. สังเกตสัญญาณที่สื่อถึงการถูกกลั่นแกล้ง หรือการเป็นผู้กลั่นแกล้งของลูก
คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมถึงสัญญาณของการถูกกลั่นแกล้งจากลูก เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน หลีกเลี่ยงการพูดคุยถึงเรื่องเพื่อนหรือเรื่องที่โรงเรียน ผลการเรียนแย่ลง มีอาการปวดหัว ปวดท้อง เงียบผิดปกติหรือซึมเศร้า เป็นต้น
นอกจากนี้ยังต้องสังเกตถึงสัญญาณที่แสดงถึงการเป็นผู้กลั่นแกล้งของลูก เช่น ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่อดทน แสดงออกถึงการแกล้ง ล้อเลียน หรือดูถูกคนอื่นที่แตกต่าง ทำร้ายสัตว์ เป็นต้น
3. พูดคุยกับลูกถึงการกลั่นแกล้ง
อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงพฤติกรรมการถูกกลั่นแกล้ง หรือกระทั่งการเป็นผู้กลั่นแกล้งเอง ให้ลูกเข้าใจว่าควรทำอย่างไร
-
สอบถามและรับฟังอย่างเข้าใจ
หมั่นพูดคุยเมื่อลูกกลับมาจากโรงเรียน เช่น วันนี้เป็นอย่างไร เล่นอะไรกับเพื่อนบ้าง เป็นต้น หากลูกมีปัญหาให้ตั้งใจรับฟังและปลอบโยน
-
ส่งเสริมให้ลูกมีความมั่นใจ
สร้างความมั่นใจให้กับลูก และสอนให้เขากล้าที่จะปฏิเสธหรือแยกตัวออกมาจากผู้ที่กลั่นแกล้ง
ในกรณีที่มีความรุนแรง คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องพูดคุยกับคุณครู และหามาตรการในการดูแล แก้ไขที่ชัดเจนจากทางโรงเรียน
หากลูกเป็นฝ่ายกลั่นแกล้งผู้อื่น ให้ทำการพูดคุยและบอกให้เขารับรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการตำหนิ หรือการแสดงความคิดเห็นในเชิงลบ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกไม่อยากพูดคุยในเรื่องนี้อีก ทั้งนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างความใกล้ชิด และคอยพูดคุยรับฟังลูกๆ ตั้งแต่พวกเขายังเล็ก ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความสนิทสนมและไว้วางใจที่จะเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่มากขึ้นค่ะ
4. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
การแสดงออกของพ่อแม่ คือต้นแบบที่ใกล้ชิดและสำคัญที่สุดซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูก ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ เช่น การแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจและให้เกียรติผู้อื่นเสมอ รวมไปถึงการเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ไม่เลี้ยงด้วยการใช้อำนาจข่มขู่ แต่ควรใช้การพูดคุยถึงเหตุและผลค่ะ
5. สอนให้ลูกรู้จักทักษะการเข้าสังคม
หากลูกมีทักษะการเข้าสังคม เขาก็จะรู้จักการวางตัว การเข้าหาคนอื่น และการยอมรับความแตกต่าง ซึ่งนั่นจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้ และลดปัญหาการกลั่นแกล้งที่จะเกิดขึ้นค่ะ
สรุป
การกลั่นแกล้ง เป็นปัญหาที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม และถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข มูลนิธิเด็กโสสะฯ จึงให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กๆ ภายใต้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเด็กทุกคนจะได้รับการคุ้มครอง ปกป้องอย่างดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
Mood of the Motherhood
หมอเสาวภา
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข