หยุด! ทำร้ายลูก ด้วยการเปรียบเทียบ

เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่มักจะคาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จ หรือเป็นเด็กดี น่ารัก แบบที่เราอยากให้เป็น แต่การที่เด็กคนหนึ่งเติบโตมานั้น แม้จะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน สภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียง เรียนที่เดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะโตมามีลักษณะนิสัย หรือความรู้ความสามารถที่เหมือนกัน ดังนั้นการจะคาดหวังได้ลูกของเราเป็นเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งญาติ พี่น้องท้องเดียวกัน ก็ไม่สามารถกำหนดให้เหมือนกันได้ดั่งใจค่ะ

ทำให้สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่อย่างไม่รู้ตัวก็คือ การเปรียบเทียบ ลูกของตนเองกับเด็กคนอื่น บางครั้งอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจ เพียงเพราะคาดหวัง อยากกระตุ้นให้ลูกเป็นเช่นนั้นบ้าง แต่รู้ไหมคะ ว่าการเปรียบเทียบนั้นส่งผลกระทบในแง่ร้ายกับลูกมากกว่าที่คิด

do-not-compare-your-kids - มูลนิธิเด็กโสสะ หยุดทำร้ายลูก ด้วยการเปรียบเทียบ-ผลกระทบ

 

ทำไมพ่อแม่ชอบเปรียบเทียบลูก?

  • ความคาดหวัง อยากให้ลูกมีพฤติกรรมเช่นนั้น หรือมีความสามารถที่ทัดเทียมกับเด็กคนอื่น ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจจะเผลอพูดเปรียบเทียบลูกเพราะคาดหวังอยากให้ทำตามต้นแบบที่ดี เช่น

“ดูน้องเอเป็นตัวอย่างสิ เขาตั้งใจเรียนจนได้คะแนนเต็มตลอดเลยนะ ลูกต้องตั้งใจบ้าง”
“น้องบีที่อยู่ข้างบ้านแข่งตอบคำถามวิชาการได้รางวัลมาด้วย ลองเอาอย่างน้องเขาบ้างดีไหม”

  • ความปรารถนาดี อยากผลักดันให้ลูกเห็นต้นแบบดีๆ และทำตามเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเอง เช่น

“น้องเขาเด็กกว่าลูกยังรู้จักยิ้มแย้มต้อนรับผู้ใหญ่เลย ทำไมลูกถึงไม่ทำแบบน้องบ้าง ผู้ใหญ่เขาจะได้เอ็นดู”

  • ความรู้สึกโกรธ หงุดหงิดที่ลูกไม่ได้ดั่งใจ เมื่อเริ่มพูดกับลูกด้วยอารมณ์โกรธ จะยิ่งเป็นอันตรายค่ะ เนื่องจากเราจะมีความยั้งคิดในการใช้คำพูดที่น้อยลง บางคำอาจไม่ได้ตั้งใจแต่สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นบาดแผลในใจให้กับลูกได้ เช่น

“ทำไมทำอะไรก็ไม่ได้ดีเหมือนกับพี่ชาย” “หัดทำตัวดีๆ แบบน้องบ้างสิ”
“ตั้งใจเรียนแบบเพื่อนในห้องบ้าง คะแนนจะได้ไม่แย่แบบนี้”

ถ้อยคำเหล่านี้เป็นทัศนคติด้านลบที่ส่งผลต่อความรู้สึกลูกที่ยากจะลบเลือน ดังนั้นหากรู้ตัวว่าโกรธ หรือผิดหวัง คุณพ่อคุณแม่ควรทำการระงับความโกรธก่อนทำร้ายลูกอย่างไม่ตั้งใจ
 

ผลกระทบ จากการเปรียบเทียบลูก

ความคาดหวัง หรือความปรารถนาดีต่างๆ อาจกลับกลายเป็นฝันร้ายสำหรับลูกโดยที่เราไม่ทันคาดคิด การใช้ถ้อยคำในเชิงลบเพื่อเปรียบเทียบลูก เช่น "ทำไมเรื่องง่ายๆ แค่นี้ถึงทำไม่ได้เหมือนเพื่อน" "ทำไมหน้าตาไม่น่ารักเหมือนคนพี่เลย" แม้อาจเป็นเพียงความไม่ตั้งใจ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการ บูลลี่ (Bully) ก่อให้เกิดเป็นปมในใจ นำไปสู่ปัญหาทางสภาพจิตใจที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

  • ความมั่นใจ ความเคารพในตนเอง (Self-esteem) ลดน้อยลง เกิดการลดทอนคุณค่าในตนเอง เพราะรู้สึกว่าทำอะไรได้ไม่ดีเท่าคนอื่น
  • กลายเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม เพราะถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ เสมอ
  • ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลง ลูกจะรู้สึกกดดันและเครียดเมื่อถูกพ่อแม่เปรียบเทียบบ่อยครั้ง รวมถึงเกิดความอิจฉาริษยากันระหว่างพี่น้อง หากถูกพ่อแม่เปรียบเทียบกันในครอบครัวเสมอ
  • รู้สึกโกรธ และอาจแสดงพฤติกรรมต่อต้านพ่อแม่ การประชดประชัน นำไปสู่ความขัดแย้งภายในครอบครัว

นอกจากผลกระทบในแง่ลบที่ไม่คาดคิด บางครั้งหากเป็นถ้อยคำที่รุนแรงกระทบต่อจิตใจเด็กมากๆ ยังถือเป็นการ ละเมิดสิทธิเด็ก ด้านวาจาและอารมณ์ อีกด้วยค่ะ ยิ่งพูดเปรียบเทียบบ่อยเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำ ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกแย่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกอย่างแน่นอน
 

หยุดเปรียบเทียบ แล้วเลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ

  • บอกลูกให้ชัดถึงสิ่งที่อยากจะสอน หรืออยากให้ทำ
    เช่น แทนที่จะพูดกับลูกว่า “หัดตั้งใจเรียนเหมือนพี่บ้าง เอาแต่เล่นแบบนี้คะแนนสอบถึงออกมาไม่ดี”ควรพูดคุย สอนเขาไปตรงๆ ว่า “แม่ว่าลูกลองปรับเวลาเรียนกับเล่นอีกนิด ครั้งหน้าหากคะแนนสอบดีขึ้น หนูจะได้ไม่ต้องสอบตก มีเวลาเล่นเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย”
  • มองหาข้อดีและความสามารถที่ลูกถนัด มากกว่าโฟกัสไปที่จุดด้อย
    เด็กทุกคนมีข้อดี-ข้อเสีย ความสามารถ และความสนใจที่แตกต่างกัน เช่น ลูกอาจจะเรียนไม่เก่ง แต่ชื่นชอบในศิลปะ กีฬา คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองสนับสนุนในด้านที่ลูกสนใจเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาศักยภาพของเขาให้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญ อย่าให้ความคาดหวังกลายเป็นความกดดันลูกมากจนเกินไป แม้ลูกเราจะเป็นเด็กธรรมดาที่ไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ
  • ชื่นชมเมื่อลูกทำดี แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และให้กำลังใจในสิ่งที่ลูกพยายามทำ

    คำชื่นชมยินดีแม้เพียงเล็กน้อย เมื่อลูกทำได้ดี หรือทำสิ่งที่ดี เช่น “เก่งมากลูก” “ทำดีแล้ว แม่ภูมิใจมากๆ” นอกจากจะช่วยส่งเสริมด้านอารมณ์ให้ลูกเป็นคนมีทัศนคติที่ดีแล้ว ยังช่วยสร้างความภาคภูมิใจ ทำให้เขามองเห็นคุณค่าในตนเองและมั่นใจที่จะกล้าทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นเช่นกันค่ะ

ส่วนสิ่งที่ลูกทำผิดพลาด หรือทำได้ไม่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจและคำแนะนำ ชื่นชมในส่วนอื่นๆ ที่ลูกทำได้ดีมากกว่าการตำหนิหรือเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นๆ ค่ะ
 

เข้าใจอัตลักษณ์ของเด็ก ไม่เปรียบเทียบกัน

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้า ไร้ที่พึ่งพิง ในรูปแบบของครอบครัวทดแทนถาวร เด็กจะได้เติบโตอย่างอบอุ่น ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคมอีกครั้ง  แม้ครอบครัวโสสะจะถือเป็นครอบครัวใหญ่ เพราะบ้านหลังหนึ่งจะมีคุณแม่โสสะคอยเลี้ยงดูลูกๆ ประมาณ 10 คนทั้งชายและหญิง หลากหลายช่วงวัย แต่คุณแม่ทุกคนทุ่มเทกับการเลี้ยงลูกด้วยความรัก คอยทำความเข้าใจในตัวเด็กแต่ละคน เพื่อสนับสนุนในด้านที่เขาถนัด เข้าใจศักยภาพที่เด็กมีโดยไม่เปรียบเทียบ บูลลี่ หรือแบ่งแยกกับคนอื่นๆ เพื่อให้เด็กในครอบครัวโสสะทุกคนเติบโตอย่างมีทัศนคติที่ดี มีความมั่นใจในตนเอง และไม่คิดว่าการเป็นเด็กกำพร้าคือจุดด้อยของตัวเอง แต่พวกเขาคือเด็กที่มีศักยภาพและคุณภาพที่สามารถเลี้ยงดูพึ่งพาตนเองได้ในสังคมเช่นกันค่ะ
 

แก้ม ปัญญ์วณิชยา ฤทธิ์ยืนยง หนึ่งในความสำเร็จจากหมู่บ้านเด็กโสสะเชียงราย - sosthailand-nong-gam-success-stories-chiangrai

“เท่าที่จำความได้ เริ่มแรกที่เข้ามาในหมู่บ้าน รู้สึกว่าการเริ่มต้นอะไรสักอย่างมักจะมีความกลัวเสมอ แต่การที่ได้รับการสนับสนุนจากรอบข้างทำให้หนูมีวันนี้ หนูมีความมั่นใจมากขึ้นๆ หนูขอขอบคุณทุกคนที่คอยสนับสนุนไม่ว่าอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคำชี้แนะ การอบรมสั่งสอนหรือแม้จะเป็นแค่คำชมเล็ก ๆ ที่คอยผลักดันหนูให้ประสบความสำเร็จ”

แก้ม ปัญญ์วณิชยา ฤทธิ์ยืนยง
หนึ่งในความสำเร็จ จากหมู่บ้านเด็กโสสะเชียงราย
จบการศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

หมวย พลอยไพริล ภูมิสุทธาผล หนึ่งในความสำเร็จจากหมู่บ้านเด็กโสสะภูเก็ต - sosthailand-Ploypailin-success-stories-phuket

“หนูไม่เคยอายที่จะบอกใครๆ ว่าหนูเป็นเด็กมูลนิธิฯ เพราะที่นี่คือบ้าน คือทุกอย่างสำหรับเรา ที่นี่เราได้มีแม่ ผู้ซึ่งต่อให้เราเดินออกมาจากที่นั่นแล้ว แต่แม่ก็ยังเป็นแม่ของเราอยู่ พี่น้องในบ้าน คุณน้าคุณอาทุกคนในหมู่บ้านก็เช่นกัน ทุกคนคือคนในครอบครัวที่หนูมี”

หมวย พลอยไพริล ภูมิสุทธาผล
หนึ่งในความสำเร็จ จากหมู่บ้านเด็กโสสะภูเก็ต
จบจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม

 

หากเด็กๆ ได้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ มีความกล้าและมั่นใจในการใช้ชีวิต ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ แค่อยู่อย่างพึ่งพาตนเองได้ในสังคมอย่างมีความสุข ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีแล้วค่ะ อย่างไร คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe zone) ที่ดีให้กับลูก อย่าลืมนะคะ หยุด! ทำร้ายลูกด้วยการเปรียบเทียบ

 

อ้างอิง
Thaichildrights
Passeducation

Copyright © All Right Reserved