สอนลูกด้วยการตี ดีจริงไหม?

sosthailand-มูลนิธิเด็กโสสะ-สอนลูกด้วยการตี ดีจริงไหม


“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ที่เราได้ยินมาเนิ่นนาน เป็นวิธีการที่เชื่อว่าผู้ใหญ่หลายๆ คนมักโตมาด้วยการทำโทษอย่าง “การตี” แต่สำนวนไทยนี้อาจจะไม่เหมาะกับการเลี้ยงลูกในปัจจุบันค่ะ เนื่องจากการสอนลูกด้วยวิธีต่างๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ด้วยสื่อและเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราเข้าถึงความรู้ ความเข้าใจ ได้มากและหลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มีช่องทางในการศึกษาวิธีอบรมเลี้ยงดูลูกน้อยของตนเองได้อย่างดีและเหมาะสมที่สุด แล้วการสอนลูกด้วยการตีนั้นดีจริงไหม? น้องโสสะขอแนะนำให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้ทำความเข้าใจกันค่ะ

 

การตี ส่งผลร้ายต่อเด็กอย่างไร

การตีเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ลูกเจ็บและรู้สึกกลัวจึงหยุดทำ แต่ลูกไม่ได้เข้าใจเหตุผลว่าเพราะอะไรหรือทำไมจึงทำเช่นนั้นไม่ได้ ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การตอบสนองในเชิงลบได้ การที่เด็กถูกตีบ่อยๆ ตั้งแต่ยังเล็ก จะซึมซับจดจำพฤติกรรมจากพ่อแม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงแบบเมื่อโตขึ้น กลายเป็นคนก้าวร้าว ขาดความมั่นใจในตนเอง เครียดง่าย และร้ายแรงถึงขั้นกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

 

sosthailand-มูลนิธิเด็กโสสะ-สอนลูกด้วยการตีดีจริงไหม-5วิธีลงโทษโดยไม่ต้องตีลูก

 

5 วิธีลงโทษ โดยไม่ต้องตีลูก

มีหลายวิธีที่สามารถทำโทษเพื่อสอนลูกได้โดยไม่ต้องใช้การตีค่ะ แต่ที่สำคัญเลยคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น จัดการอารมณ์โกรธของตัวเองให้ได้ก่อน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการอบรมลูกด้วยเหตุผล นอกจากนี้จะช่วยให้มีสติไม่เผลอใช้คำพูดต้องห้ามทำร้ายลูก โดยไม่ตั้งใจอีกด้วยค่ะ
 

1. ตักเตือน

เหมาะกับเด็กเล็ก โดยใช้การตักเตือนด้วยน้ำเสียงจริงจังเมื่อลูกทำผิด เพื่อสร้างการรับรู้ให้เขาเข้าใจว่ากำลังทำผิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น เมื่อลูกแย่งของเล่นจากเพื่อน พ่อแม่ควรเตือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และหากลูกถูกคนอื่นแย่งของบ้างจะรู้สึกเสียใจเหมือนกันใช่ไหม เป็นต้น
 

2. แยกออกมาให้อยู่ตามลำพัง (Time Out)

ใช้ได้ผลดีในเด็กอายุประมาณ 2-10 ปี เป็นการสร้างพื้นที่สงบ ปลอดภัย ให้ลูกได้นิ่งคิดเพียงลำพัง ทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าถูกต้องหรือไม่ โดยกำหนดเวลาที่แน่ชัดและไม่ควรเกิน 10 นาที โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องบอกให้ลูกรู้ก่อนว่าทำอะไรผิด และควรแก้ไขอย่างไร ก่อนลงโทษและคอยเฝ้าอยู่ห่างๆ โดยไม่เข้าไปรบกวน แต่ห้าม! ปิดประตูขัง หรือขังไว้ในที่แคบเด็ดขาด
 

3. ลงโทษลูกด้วยวิธีการไม่สนใจ/เพิกเฉย

ใช้เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ โดยต้องไม่เป็นอันตรายหรือรบกวนผู้อื่น เช่น เมื่อเด็กร้องไห้อาละวาดอยู่บนพื้นเพราะไม่ได้ดั่งใจ ควรทำเป็นไม่สนใจและปล่อยให้ร้องจนหยุดเอง เมื่อหยุดร้องจึงค่อยเข้าไปพูดคุยเพื่อสอนว่าการทำเช่นนี้ไม่น่ารัก ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเสียใจ และต่อไปควรแสดงออกอย่างไรถึงจะเป็นเด็กดี
 

4. ฝึกให้รับผิดชอบต่อการกระทำ

การฝึกระเบียบวินัยที่ดีคือลูกต้องรู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ โดยเริ่มต้นจากชีวิตประจำวัน เช่น หากลูกรื้อของเล่นแล้วไม่ยอมเก็บเอง แม่ก็จะเก็บและไม่ให้เล่นแล้วเพราะลูกไม่ดูแล, หากลูกเล่นซนทำบ้านเลอะเทอะ ก็ต้องทำความสะอาดด้วยตัวเอง เป็นต้น
 

5. ลงโทษลูกด้วยวิธีการงดกิจกรรม/ไม่ให้รางวัล

เป็นการลงโทษเพื่อสร้างเงื่อนไข เช่น หากไม่ทำการบ้านให้เสร็จ จะไม่ให้ออกไปเล่นกับเพื่อน, หากไม่เก็บของเล่นให้เรียบร้อย แม่จะไม่ซื้อตุ๊กตาที่หนูอยากได้ให้ เป็นต้น พร้อมกับสอนลูกด้วยว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้ เพื่อให้ลูกเข้าใจแล้วไม่ทำผิดซ้ำอีก

อย่างไร วิธีการต่างๆ นั้นเหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัยหรือสภาพแวดล้อมของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกัน โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการตามวัยของเด็ก และเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ใหม่เหมาะสมกับนิสัยใจคอของลูกค่ะ ซึ่งการลงโทษแต่ละครั้งควรอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ ความรุนแรง และอย่าลืมแสดงความรักด้วยคำพูดชื่นชม การกอด และให้รางวัลเมื่อลูกเป็นเด็กดี เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวด้วยนะคะ
 

อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล
Parentsone

Copyright © All Right Reserved