5 คำต้องห้าม ที่ไม่ควรพูดกับลูก

sosthailand-dont-say-offensive-words-to-child-มูลนิธิเด็กโสสะ-5 คำต้องห้าม ที่ไม่ควรพูดกับลูก-cover

 

พ่อ แม่ ผู้ปกครอง คือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุดเป็นลำดับแรก จึงเป็นคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูก ทั้งด้านความคิด จิตใจ ทักษะความสามารถ และพฤติกรรมการแสดงออกด้านต่างๆ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป แต่กลับส่งผลต่อลูกมากที่สุดก็คือ "คำพูด" ที่ใช้กับลูกๆ นั่นเองค่ะ

เพราะคำพูดเปรียบเสมือนดาบสองคมที่เราควรใช้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ไม่ว่าจะกับผู้ใหญ่ด้วยกันเอง หรือกับลูกๆ ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักและคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะใช้คำพูดต่างๆ กับลูกน้อย เพราะบางครั้งสิ่งที่เราได้พูดไปนั้นอาจสร้างบาดแผลในใจให้กับลูก อีกทั้งยังจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอีกด้วยค่ะ

 

sosthailand-มูลนิธอเด็กโสสะ- 5 คำต้องห้าม ที่ไม่ควรพูดกับลูก - คำสั่ง หลอกลวง พูดเปรียบเทียบ ล้อเลียน อารมณ์โกรธ

 

คำต้องห้าม แบบไหนที่ลูกไม่อยากได้ยินจากพ่อแม่

1. คำสั่ง หรือบังคับ

ประโยคคำสั่ง เช่น  หยุดเล่นได้แล้ว, ห้ามเสียงดัง, อย่าดื้อได้ไหม ฯลฯ
ประโยคบังคับ เช่น ต้องตั้งใจเรียนให้มากกว่านี้, ทำให้ดีกว่านี้สิ, ลูกต้องเชื่อฟังคุณน้า ฯลฯ

คำพูดในเชิงคำสั่ง หรือบังคับเคี่ยวเข็ญ เหล่านี้หากใช้กับลูกบ่อยๆ อาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจ และหวาดกลัวว่าจะทำสิ่งนี้ได้หรือไม่ จะโดนคุณพ่อคุณแม่สั่งห้ามหรือเปล่า โดยเฉพาะเด็กในวัยกำลังโต กำลังเรียนรู้ สงสัย หากถูกสั่งให้หยุดเล่น หยุดร้องไห้ หรือห้ามทำสิ่งต่างๆ โดยไม่รู้เหตุผล จะเป็นการขัดขวางพัฒนาการ ส่งผลต่อความกล้า ความคิดสร้างสรรค์ เด็กอาจกลายเป็นคนที่ไม่กล้าคิดกล้าทำในสิ่งใหม่ๆ ซ้ำร้ายอาจกลายเป็นความเครียด ความกดดัน และเก็บกดจนทำให้เด็กแสดงออกอย่างก้าวร้าว รุนแรงได้

ทางที่ดีลองเปลี่ยนจากการสั่ง/บังคับ เป็นการใช้คำแนะนำ สอน ให้กำลังใจแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย และอธิบายเขาอย่างใจเย็นแทนดีกว่าค่ะ เช่น ใกล้ได้เวลาทานข้าวแล้วนะคะหนูจะมีเวลาเล่นอีก 10 นาทีนะคะ, พูดเบาๆ หน่อยค่ะจะได้ไม่รบกวนคนอื่น ถ้าหนูถูกรบกวนหนูคงไม่ชอบเหมือนกันใช่ไหมคะ, หนูทำดีแล้วคนเก่ง เดี๋ยวเรียนเพิ่มเติมอีกนิดก็จะยิ่งเก่งขึ้นแล้วนะ เป็นต้น เพื่อเป็นการให้เขาเรียนรู้ถึงเหตุผล และฝึกระเบียบวินัยที่ดีค่ะ

ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็น คำต้องห้าม ไปเสียทั้งหมด ในบางสถานการณ์ เช่น สถานการณ์ที่อันตราย หรือไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นต้องใช้ประโยคคำสั่ง/บังคับ ในการห้ามไม่ใช่ลูกทำเช่นนั้น แต่ก็ควรสอนและอธิบายเขาด้วยเหตุผลให้เข้าใจด้วยนะคะ

 

2. คำหลอกลวง หรือขู่

เช่น ถ้าไม่หยุดร้องไห้จะโดนผีมาหลอก, ถ้าซนจะโดนตำรวจจับ, เด็กดื้อจะโดนพาไปทิ้ง

การขู่หรือหลอกลูกๆ อาจทำให้ลูกกลัวและได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ แต่! สิ่งเหล่านี้เป็น คำต้องห้าม ที่ไม่ควรพูดกับลูก อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะการขู่ว่าจะไม่รักหรือทอดทิ้ง เพราะการทำให้ลูกกลัวอาจกลายเป็นปมในใจที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อาจทราบเลยว่า แผลใจนี้จะติดตัวเขาไปจนโตหรือไม่ ลูกอาจกลายเป็นคนหวาดระแวง ไม่มั่นใจในตนเอง รวมถึงการพูดขู่โดยไม่มีเหตุผลจะทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งรอบตัว ในระยะยาวอาจกระทบต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจ เด็กจะไม่สามารถเผชิญปัญหาและแก้ไขได้ด้วยตนเอง

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เหตุผลในการพูดคุย สอนในสิ่งที่เขาควรทำ อธิบายกับลูกเมื่อเขางอแง หรือไม่เป็นตามที่เราต้องการมากกว่าการขู่หรือหลอก และอย่าลืมชื่นชมเมื่อเขาปฏิบัติตัวได้ถูกต้องค่ะ เช่น "แม่ไม่ชอบที่หนูโวยวายเสียงดัง ถ้าหนูเสียใจควรบอกกับคุณแม่นะคะ" และสอนให้เขารู้จักแสดงออกหรือจัดการกับอารมณ์เมื่อโกรธหรือเสียใจ

 

3. คำพูดด้วยอารมณ์โกรธ

เช่น การตะคอก ตวาด, การดุด่าด้วยอารมณ์หงุดหงิด

ไม่มีใครรู้สึกดีเมื่อเราต่างพูดคุยกันด้วยอารมณ์โมโห นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงแล้ว อาจกลายเป็นแผลใจที่ยากจะลืมเลือน หรือเรียกคืนความรู้สึกดีต่อกันกลับมาได้ การถูกคุณพ่อคุณแม่ตวาดหรือใช้ถ้อยคำไม่ดี ลูกอาจซึมซับ จดจำ และนำไปลอกเลียนแบบเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่ลูกจะมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ต่ำ กลายเป็นเด็กก้าวร้าว หวาดกลัว หรือร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้น หากไม่อยากให้ลูกน้อยต้องมีบาดแผลทางจิตใจ คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักจัดการอารมณ์โกรธก่อนวีนลูก เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันและช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีค่ะ

นอกจากนี้ ในทางกฎหมายแล้วเด็กทุกคนมี สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง จากการถูกทำร้ายทั้งด้านร่างกาย วาจา และจิตใจ ดังนั้นการใช้ถ้อยคำรุนแรงทำร้ายจิตใจจึงถือเป็นการละเมิด สิทธิเด็ก เช่นกันค่ะ

 

4. คำพูดเปรียบเทียบ

เช่น ทำไมไม่น่ารักเหมือนพี่, ทำไมเรียนไม่เก่งเหมือนเพื่อน, ง่ายๆ แค่นี้เองคนอื่นยังไงทำได้เลย

การเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเพราะความหวังดี อยากให้ลูกทำได้แบบที่เราต้องการ หรืออยากให้ลูกประสบความสำเร็จ แต่ทราบไหมคะว่านั่นกำลังเป็นสิ่งที่ทำร้ายลูกรักมากกว่าที่คิด การที่คุณพ่อคุณแม่ใช้คำพูดเปรียบเทียบจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเครียด กดดัน ส่งผลให้เกิดเป็นปมด้อยหรือบาดแผลในใจ เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองด้อยคุณค่า ไม่มีความสามารถ กลายเป็นคนขาดความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก หรือมีนิสัยขี้อิจฉา แสดงออกก้าวร้าว ประชดประชัน พยายามทำสิ่งที่ตรงข้ามกับที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควร หยุดทำร้ายลูกด้วยการเปรียบเทียบ แต่ใช้การพูดคุยหรือสอนลูกด้วยเหตุผลไปตรงๆ จะดีกว่า ทำความเข้าใจลักษณะนิสัย ความสามารถ ความถนัดและความสนใจของลูก สนับสนุน แสดงความชื่นชมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกำลังใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อพัฒนาการและความสัมพันธ์ภายในครอบครัวด้วยค่ะ

 

5. คำพูดล้อเลียน

การพูดล้อเลียน หรือเย้าแหย่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์ การกระทำ น้ำเสียง ปมด้อย หรือเรื่องน่าอายที่ลูกทำ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะมองว่าเป็นเรื่องน่ารัก ตลกขบขัน แต่แท้จริงอาจเป็นสิ่งที่ลูกไม่ชอบก็ได้ค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยระวังไม่ให้ความเอ็นดูของเรากลายเป็นคำพูดบูลลี่ (Bully) เพราะมีโอกาสที่ลูกจะจดจำจนกลายเป็นปมด้อยในใจไปจนโต  ทำให้ไม่ชอบ ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองเป็นค่ะ

การไม่ล้อเลียน คอยชื่นชม และสอนให้ลูกรักในสิ่งที่ตนเองเป็น จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและความภาคภูมิใจให้กับลูกเมื่อเติบโตขึ้น เขาจะกลายเป็นคนที่เปิดกว้างและยอมรับในตัวตนของคนอื่นเช่นกันค่ะ

 

sosthailand-มูลนิธิเด็กโสสะ-ครอบครัว พี่น้อง

 

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้การช่วยเหลือไทยที่เด็กกำพร้าและขาดโอกาส กว่า 700 คน ด้วยการเลี้ยงดูแบบครอบครัวทดแทนถาวร โดยเด็กจะได้รับความรักจากครอบครัวอีกครั้ง ได้เติบโตอย่างมั่นคงปลอดภัยในหมู่บ้านเด็กโสสะทั้ง 5 แห่งทั่วประเทศ และไม่ว่าเด็กๆ จะมาจากที่ไหน หรือมีที่มาอย่างไร เราต่างเคารพใน สิทธิเด็ก ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อการเลี้ยงดูให้เด็กสามารถเติบโตอย่างพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม


อ้างอิง
โรงพยาบาลสมิติเวช
รักลูก

Copyright © All Right Reserved