Pride Month : สิทธิทางเพศที่ครอบครัวควรทำความเข้าใจ

มูลนิธิเด็กโสสะ-Pride Month : สิทธิทางเพศที่ครอบครัวควรทำความเข้าใจ-แบนเนอร์

เริ่มต้นเดือนมิถุนายนด้วยเทศกาลสำคัญที่น้องโสสะเชื่อว่าหลายๆ คนคงรู้จักหรือเคยได้ยินกันมาบ้าง นั่นคือ Pride Month หรือ เดือนแห่งความภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) โดยตลอดทั้งเดือนเราจะเห็นการออกมาเฉลิมฉลองของผู้คนทั่วโลกผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเดินขบวนพาเหรด ปาร์ตี้สังสรรค์ การแสดง เวทีเสวนา นิทรรศการศิลปะและการให้ความรู้ ซึ่งเบื้องหลังกิจกรรมที่ดูสนุกสนานเหล่านี้ เป็นหนึ่งในการแสดงออกเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาว LGBTQ+ อันมีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญค่ะ
 

ก่อนจะมาเป็น Pride Month

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน "ความหลากหลายทางเพศ" ยังไม่เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคม แม้ในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกาก็ตาม ผู้คนที่แสดงออกไม่ตรงตามเพศกำเนิดจะถูกกดขี่ ดูถูกเหยียดหยาม ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ร้ายแรงไปถึงการถูกจับกุมหากเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ

  • ปี ค.ศ. 1969 การลุกฮือที่สโตนวอลล์ (Stonewall Uprising)

ในปี ค.ศ. 1966 จีโนวีส (Genovese) ครอบครัวกลุ่มมาเฟียที่มีอำนาจของนิวยอร์ก ได้ซื้อกิจการสโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) และก่อตั้ง "บาร์เกย์" ขึ้น โดยสถานที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่พวกเขาสามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างเป็นอิสระ จนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจได้บุกเข้ามาตรวจค้นในบาร์ แต่ครั้งนี้ผู้คนภายในบาร์เริ่มต่อสู้และทำการตอบโต้กลับ หลังจากคืนนั้นผู้คนจำนวนหลายพันคนมาที่บาร์เพื่อชุมนุม จนเกิดเป็นการจลาจลใหญ่ซึ่งกินระยะเวลานานหลายวัน โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำมาสู่การรวมพลังกันของกลุ่มคน LGBTQ+ เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม

  • ปี ค.ศ. 1970 กำเนิด Pride Parade

หลังจากครบ 1 ปี เหตุการณ์การลุกฮือที่สโตนวอลล์ ในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นำโดย Brenda Howard นักเคลื่อนไหวผู้เป็นแกนหลัก ได้รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ (Pride parade) เป็นครั้งแรกที่นิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่าง ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์ ทำให้เดือนมิถุนายนของทุกปี กลายเป็นเดือนที่ชาว LGBTQ+ จะออกมาเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้และแสดงจุดยืนในสิทธิเสรีภาพของตนเอง

  • ปี ค.ศ. 1978 กำเนิด Rainbow flag

ธงสีรุ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของชาว LGBTQ+ นั้น เกิดจาก Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนผู้เป็นเกย์อย่างเปิดเผย โดยปัจจุบันคงไว้ 6 สี มีความหมายต่างๆ ได้แก่

มูลนิธิเด็กโสสะ-Pride Month : สิทธิทางเพศที่ครอบครัวควรทำความเข้าใจ-ธงสีรุ้ง LGBTQ+

สีแดง – ชีวิต / สีส้ม - การเยียวยา / สีเหลือง – ความหวัง / สีเขียว - ธรรมชาติ / สีฟ้า – ศิลปะ / สีม่วง – จิตวิญญาณ

  • ปี ค.ศ. 2000 ประกาศ Pride Month

ปี 2000 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน (William Jefferson Clinton) ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน’ (Gay & Lesbian Pride Month) ต่อมาในปี 2009 ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ’ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เกิดเป็น Pride Month ที่เราคุ้นเคยมาจนถึงปัจจุบัน

มูลนิธิเด็กโสสะ-Pride Month : สิทธิทางเพศที่ครอบครัวควรทำความเข้าใจ-infographic

Pride Month เท่าเทียมอย่างเข้าใจ

#LoveisLove #BeTrue #LoveWins เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะรักอย่างเท่าเทียม จากการถูกกดขี่นำสู่การสร้าง “ความภาคภูมิใจในตัวเอง” แต่ไม่เพียงแค่ชาว LGBTQ+ เท่านั้น นิยามของ สิทธิและความเท่าเทียม ควรเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอภาคค่ะ
 

เรียนรู้สิทธิตัวเองและผู้อื่น ผ่าน Pride Month

ในสังคมไทย แม้ความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น แต่ด้วยบริบททางสังคมที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับเรื่องเพศ ทำให้ยังมีการแบ่งแยกและบูลลี่กันในสังคม หลายคนถูกเพื่อบูลลี่เพียงเพราะพฤติกรรมการแสดงออกไม่ตรงกับเพศสภาพ เพศที่สามถูกนำมาใช้เป็นตัวตลกของสังคม ซึ่งเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะกับเด็กในโรงเรียน ดังนั้น การเรียนรูเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยว สิทธิ จึงเป็นสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐาน เพื่อปรับทัศนคติและค่านิยมให้เกิดการเปิดกว้างและยอมรับในความเป็นมนุษย์ต่อกันมากยิ่งขึ้นค่ะ

หยุดการบูลลี่! 7 เรื่องที่ไม่ควรพูดเหยียดคนอื่น

แตกต่างอย่างเข้าใจเมื่อลูกเป็น LGBTQ

Pride Month จึงไม่ได้เป็นเพียงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของชาว LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ความเท่าเทียมกันในสังคม ที่ทุกคนควรได้รับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรถูกเรียนรู้ปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ

 

4 ข้อ ปรับแนวคิดพ่อแม่ เมื่อลูกเป็น LGBTQ+

ไม่เพียงแค่ผู้ใหญ่อย่างเราที่ต้องการ สิทธิมนุษยชน แต่เด็กเองก็เช่นกัน เด็กคนหนึ่งต่างเติบโตมาพร้อมกับ สิทธิเด็ก ตั้งแต่กำเนิด เป็นหน้าที่ของพ่อแม่และผู้ปกครองที่ควรต้องเคารพสิทธินั้น และสอนให้พวกเขารู้จักสิทธิของตนเองเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ มูลนิธิเด็กโสสะฯ ขอสนับสนุนทุกความเท่าเทียม และอยากให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ 4 วิธีนี้เป็นแนวทาง เพื่อปรับความเข้าใจเมื่อพบว่าลูกของตนเองเป็น LGBTQ+

  1. เด็กทุกคนมีคุณค่าในตนเอง
    ตั้งแต่ภายในครรภ์ พ่อแม่ไม่ใช่ผู้กำหนดได้ว่าลูกที่เกิดมานั้นจะเป็นเพศอะไร แต่เขาก็พิเศษและมีคุณค่าเมื่อได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ดังนั้น ไม่ว่าลูกจะเติบโตมาเป็นเพศใด มีรสนิยมแบบไหน ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่จำไว้เสมอว่าคุณค่าและความพิเศษนั้นไม่ได้ลดลงไปเลยค่ะ
     
  2. ไม่เปรียบเทียบ
    หยุด! ทำร้ายลูก ด้วยการเปรียบเทียบ แม้แต่ตัวเราเองก็คงไม่ชอบหากถูกกดดันหรือเปรียบเทียบ เด็กเองก็เช่นกันค่ะ การสอนลูกหรือพยายามกดดันให้เขาเปลี่ยนแปลงด้วยการเปรียบเทียบทั้งกับตนเองและผู้อื่น อาจส่งผลเชิงลบทำให้ลูกรู้สึกเครียด สูญเสียความนับถือในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก พูดคุย และรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องอยู่กับครอบครัว กลายเป็นคนเก็บกดและร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่ะ
     
  3. เปิดใจ สื่อสาร และสนับสนุน
    การสื่อสารพูดคุยกันบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดและเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น หากครอบครัวสามารถเป็น Safe Zone ให้กับลูกได้ เขาก็จะกล้าพูดคุยเปิดเผยตัวตน และเลือกที่จะปรึกษาความไม่สบายใจนั้นกับครอบครัวก่อนคนอื่น แต่สิ่งที่สำคัญคือ “การรอคอย” ค่ะ รอให้ลูกได้ค้นหาตัวตนของตนเอง ระหว่างนั้นครอบครัวเพียงแสดงความรักและการสนับสนุนที่ดี ไม่เร่งรัดหรือซักไซ้ว่าเขาต้องเป็นแบบไหน เมื่อลูกพร้อมและสบายใจ เขาจะเผยตัวตนออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ และกลายเป็นคนมีความสุข มีความมั่นใจ มีทัศนคติที่ดีต่อครอบครัวและเพื่อนมนุษย์คนอื่น
     
  4. สอนให้เข้าใจตนเองและผู้อื่น

    การสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ จะทำให้เขามีมุมมองที่กว้างและหลากหลาย เข้าใจตนเองและสังคมมากยิ่งขึ้น โดยอาจเริ่มจากการใช้สื่อรอบตัว เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ ข่าว เป็นต้น เพื่อปลูกฝังให้เขารู้จักวิธีการดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างถูกต้อง วิธีปฏิบัติตน การเข้าสังคม และการสร้างเสริมสุขภาพจิตให้ดีเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพและเข้มแข็ง

มูลนิธิเด็กโสสะ-Pride Month : สิทธิทางเพศที่ครอบครัวควรทำความเข้าใจ-พี่น้องโสสะ 

‘เท่าเทียม’ ไม่แตกต่าง เด็กทุกคนมีคุณค่าเสมอ

เด็กทุกคนมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม มูลนิธิเด็กโสสะฯ ไม่เพียงให้ความช่วยเหลือและเลี้ยงดูเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ ไร้ที่พึ่ง และเด็กที่เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้ง ด้วยการมอบครอบครัวทดแทน เท่านั้น แต่เราให้ความสำคัญกับ สิทธิเด็ก และการสนับสนุนให้เด็กทุกคนมองเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะครอบครัวควรเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีทัศนคติที่ดี และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขค่ะ

 

อ้างอิง

Thestandard
Thai PBS
BBC
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Parentsone

Copyright © All Right Reserved