หยุดการบูลลี่! 7 เรื่องที่ไม่ควรพูดเหยียดคนอื่น

หยุดการบูลลี่ 7 เรื่องที่ไม่ควรพูดเหยียดคนอื่น

 

เราทุกคนล้วนเกิดมาแตกต่างกัน ทั้งรูปร่างหน้าตา เชื้อชาติ อุปนิสัย และสภาพแวดล้อมในการเติบโตที่หล่อหลอมให้คนทุกคนล้วนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่สิ่งที่มักจะมาตัดสินเราคือ บรรทัดฐานหรือค่านิยมในสังคม ที่ทำให้คนมักคิดว่าจะต้องมีรูปร่างหน้าตา นิสัย รูปแบบการใช้ชีวิตที่ตรงตามค่านิยมถึงจะเรียกว่าดี ส่วนคนที่ไม่ตรงตามกรอบก็มักจะถูกเหยียดหรือบูลลี่ (Bully) แต่กระนั้นการเหยียดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แม้กระทั่งคนที่หน้าตาดีตรงตามบรรทัดฐานของสังคมก็ตาม เพียงเพราะความสนุกปาก ความอิจฉา ที่ทำให้เกิดการเหยียดกันก็มีค่ะ

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับการบูลลี่เป็นอันดับ 2 ของโลก ในปี พ.ศ. 2563 รองจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นการบูลลี่ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเป็นการเหยียดเรื่องรูปลักษณ์ เพศ และทัศนคติมากที่สุด เช่น ขี้เหร่, ผอม, เตี้ย, สิว, กะเทย, ขุดทอง เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นมากในเด็กระดับชั้นมัธยม ดังนั้นการเริ่มต้นสร้างทัศนคติที่ดีควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่และเด็กทุกคนควรเรียนรู้เรื่อง สิทธิเด็ก และสิทธิมนุษยชน เพื่อทำความเข้าใจในสิทธิของตนเองและผู้อื่นค่ะ

 

7 เรื่องที่ไม่ควรพูดเหยียดคนอื่น

เข้าใจความแตกต่าง ก่อนใช้คำพูดเหยียดทำร้ายคนอื่น

การหยอกล้อกันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรอยู่ในเรื่องที่เหมาะสม เพราะเราไม่อาจทราบว่าคำพูดใดที่จะไปกระทบต่อจิตใจของผู้ฟัง สิ่งใดที่เป็นการตอกย้ำปมด้อยหรือทำให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจ น้องโสสะขอยกตัวอย่าง 10 เรื่องหลักๆ ที่คนมักใช้พูดล้อเลียนหรือเหยียดคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนัก และไม่ทำร้ายกันด้วยคำพูดเหยียดในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ค่ะ
 

มูลนิธิเด็กโสสะ-7เรื่องที่ไม่ควรพูดเหยียดคนอื่น เพศ รสนิยมความชอบ รูปร่าง เชื้อชาติ อาชีพ คิดก่อนทำร้ายจิตใจคนฟัง
 

1. เพศ
เรื่องเพศ เป็นความละเอียดอ่อนที่ถูกนำมาใช้ในการเหยียดกันมากที่สุด เนื่องจากสมัยก่อนเราใช้การแบ่งแยกกันเพียงเพศหญิงและชาย ผู้คนที่แสดงความแตกต่างจากเพศกำเนิดจึงมักถูกเหยียดหรือบูลลี่ เช่น ไอตุ๊ด, พวกผิดเพศ, ตัวประหลาด, เปลี่ยนทอมเป็นเธอ เป็นต้น

แต่ในปัจจุบัน เรื่องเพศได้เปิดกว้างมากขึ้น สังคมเริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มคนเพศทางเลือก (LGBTQ) มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวัยเด็ก- วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่ได้รับความรุนแรงจากการเหยียดเรื่องเพศมากที่สุด ผู้ใหญ่-ผู้ปกครอง นอกจากต้องเปิดใจยอมรับ ความแตกต่างอย่างเข้าใจเมื่อลูกเป็น LGBTQ แล้ว ยังควรสอนให้ลูกหลานหรือเด็กๆ เคารพในความแตกต่างด้านเพศด้วยค่ะ
 

2. รูปร่างหน้าตา สีผิว  
รูปร่างหน้าตาและสีผิวของคนเรา เป็นเรื่องของพันธุกรรมตามธรรมชาติค่ะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดที่เรามักจะชื่นชอบคนที่รูปร่างหน้าตาดี แต่การใช้รูปร่างหน้าตาและสีผิวมากำหนดกฎเกณฑ์จนกลายเป็นความลำเอียง, การกีดกันไม่ว่าจะด้านหน้าที่การงานหรือการเข้าถึงบริการด้านต่างๆ, การสร้างสิทธิพิเศษเฉพาะคนหน้าตาดี รวมถึงการแซว การเหยียด คนที่รูปร่างหน้าตา สีผิว ที่ไม่ตรงตามค่านิยมของสังคมนั้น เช่น อ้วน, ดำ, หน้าสิว, ผอมจัง, นมแบน ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำค่ะ

ที่ร้ายแรงกว่านั้น การถูกบูลลี่เรื่องรูปร่าง (Body shaming) อาจก่อให้เกิดเป็นโรคทางจิตเวชได้ เช่น โรควิตกกังวลเรื่องรูปร่างหน้าตา (Body Dysmorphic Disorder) โรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa) เป็นต้น ดังนั้น การเหยียดกันเรื่องรูปร่างหน้าตาจึงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องตลกที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่เป็นไร เพราะคนที่ถูกบูลลี่นั้นอาจเกิดผลกระทบทางจิตใจมากกว่าที่คิดค่ะ
 

3. เชื้อชาติ-ศาสนา
ทุกเชื้อชาติ มีลักษณะของรูปร่างหน้าตา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่สิ่งที่ควรนำมาเหยียดหรือเกลียดชังซึ่งกันและกัน รวมถึงการนับถือศาสนาซึ่งเป็นความความเคารพ ความเชื่อส่วนบุคคลค่ะ
 

4. รสนิยม ความชอบ
รูปแบบการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ รสนิยม ความชอบ เช่น การแต่งหน้า แต่งตัว งานอดิเรก อาหารการกิน ฯลฯ เป็นสิ่งเฉพาะบุคคลที่ไม่มีผิดหรือถูก หากสิ่งนั้นไม่ไปลิดรอนสิทธิ หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นค่ะ ในปัจจุบันเรื่องรสนิยม ความชอบ การใช้ชีวิตได้เปิดกว้างมากขึ้น อย่างเช่นแฟชั่นการแต่งตัวที่ไม่มีกรอบมาจำกัดอีกต่อไป ทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตนเองที่จะทำตามความชอบโดยไม่ผิดกฎหมายหรือกาลเทศะ  
 

5. การศึกษา
ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนมีโอกาสได้เรียนสูง ได้เรียนในสิ่งที่ต้องการ แต่กับบางคนโอกาสอาจจะมีไม่มากนัก การนำระดับการศึกษาหรือสถาบันมาใช้เหยียดกันนับเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำค่ะ เพราะคุณภาพชีวิตของคนเราไม่ได้วัดแค่เพียงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยในการดำเนินชีวิตที่จะส่งผลให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จ หรืออยู่อย่างมีความสุขได้ในสังคม
 

6. ฐานะ
หลายครั้งที่เรามักได้ยินการพูดเหยียดเรื่องฐานะ เช่น ไอลูกคนจน, ลูกคุณหนู, เด็กสลัม ฯลฯ เราไม่ควรใช้ชนชั้นฐานะและเงินทองมากำหนดลักษณะนิสัยของคนทั้งหมด ความรวยอาจสร้างโอกาสที่ดีในการดำเนินชีวิตได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจนจะมีคุณค่าความเป็นมนุษย์น้อยไปกว่าคนรวยเลย
 

7. อาชีพ หน้าที่การงาน
อาชีพและหน้าที่การงาน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนเรามักนำมาใช้เหยียดกัน ด้วยค่านิยมของการตัดสินว่าคนในระดับสูงหรืออาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถสูง ได้เงินมาก มักจะดีกว่า ส่วนลูกน้องระดับล่างหรืออาชีพที่ใช้ความสามารถต่ำได้เงินน้อย มักจะถูกดูแคลนอยู่เสมอ แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าอาชีพหรือหน้าที่การงานในระดับไหน ต่างก็มีบทบาทหน้าที่สำคัญและมีคุณค่าเท่าเทียมกันค่ะ

แม้ในสังคมจะยังมีการเหยียด ล้อเลียน หรือบูลลี่ให้เห็นกันบ่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะใช้ความเคยชินที่มีมานานเพื่อทำร้ายคนอื่นได้ ถึงแม้จะเป็นเพียงการหยอกล้อแต่ก็ควรมีขอบเขต ซึ่งปัจจุบัน สังคมเริ่มมีการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความร้ายแรงของการเหยียดหรือบูลลี่มากขึ้น บุคคลมีชื่อเสียง ดารา นักร้อง นักแสดง บล็อกเกอร์ และคนทั่วไปได้ร่วมกันสร้างจุดยืนผ่านกระแส แคมเปญต่างๆ เพื่อแสดงความแตกต่าง เช่น สมรสเท่าเทียม เพื่อสร้างจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนให้กับกลุ่มคนเพศทางเลือก, my body my choice เคารพสิทธิในร่างกายของตนเองและผู้อื่น, Real Size Beauty นิยามความสวยในแบบของตนเอง เป็นต้น ช่วยให้ทุกคนเกิดความมั่นใจในตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยมเก่าๆ ให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นค่ะ
 

มูลนิธิเด็กโสสะ หมู่บ้านหาดใหญ่ พี่น้องชายหญิง


มูลนิธิเด็กโสสะฯ
ในฐานะขององค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเด็ก นอกจากการเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กทุกคนเติบโตมาอย่างแข็งแรงด้วยความรัก เรายังมุ่งเน้นในการให้ความรู้และปลูกฝังให้เด็กๆ เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ มีทัศนคติที่ดี ตระหนักถึงสิทธิที่ตนพึงมี เคารพในสิทธิของผู้อื่น และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมค่ะ

 

อ้างอิง
khunnaiver
โรงพยาบาลมนารมย์

Copyright © All Right Reserved