ชัชวรรณ สิทธิชัย

ชัชวรรณ สิทธิชัย แม่โสสะผู้เสียสละ

คุณแม่ชัชวรรณ สิทธิชัย “แม่โสสะ” ได้ถึงวัยที่ต้องเกษียณอายุในปี 2562 นี้แล้ว จากแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกทุกวัน กลายเป็นแม่เกษียณ แต่ช่วงเวลาที่เธอได้ใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวโสสะแห่งนี้ ได้หล่อหลอมจนกลายเป็น “ความสุข” ที่ “การเดินทางของเวลา” ไม่สามารถพรากไปจากเธอและลูกได้ 

 

ก่อนจะเป็นแม่โสสะ เธอเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง

ย้อนกลับไปราวๆ เกือบ 40 ปีก่อน ชัชวรรณ ในวัย 25 ปี เดินทางจากบ้านเกิดมาเพื่อสมัครงานกับมูลนิธิเด็กโสสะฯ ด้วยคำแนะนำของรุ่นพี่ ในตำแหน่ง “แม่โสสะ” อาจฟังดูแปลกที่ใครสักคนจะมาทำงานในอาชีพแม่ แต่เธอก็ตัดสินใจที่จะลองดู โดยเริ่มจากการเป็น “น้า” ก่อน เสมือนเด็กฝึกงานที่คอยเป็นผู้ช่วยของคุณแม่โสสะ 

“การเป็นน้า จะถูกฝึกความอดทน ฝึกระเบียบวินัย ทั้งการแต่งตัว การพูด การปฏิบัติ ทุกอย่าง และต้องมีความคล่องแคล่ว เพราะเราต้องคอยดูแลเด็กหลายสิบคน ที่สำคัญ คือ ต้องรับมือให้ไหวกับเด็กทุกประเภท ตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ไหม แต่ก็ต้องลองพยายามปรับตัวเข้าหากัน เพื่อให้เขายอมรับเรา ดังนั้น ความเข้าใจและอดทนจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

ชัชวรรณกล่าวระหว่างย้อนนึกระลึกถึงช่วงแรกที่เธอเข้ามาเป็นครอบครัวโสสะ

ชัชวรรณ สิทธิชัย แม่โสสะผู้เสียสละ

เมื่อรู้สึกตัวอีกที เวลาก็ผ่านไปถึง 6 ปี ชัชวรรณได้ก้าวขึ้นมาเป็น “แม่” อย่างเต็มตัว พร้อมความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น หน้าที่ของเธอไม่ต่างจากแม่ทุกคน ที่เวลาในชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง มีลูกๆ ที่ต้องคอยดูแลห่วงใยไม่เคยเว้น ต่างกันแค่เพียงลูกของเธอนั้นมีมากกว่า 10 คน และแต่ละคนแตกต่างกันทั้งสายเลือดและความเป็นมา ทว่า แม้จะต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าและปัญหามากมายระหว่างทาง แต่เธอก็ไม่เคยคิดจะทอดทิ้งครอบครัวแห่งนี้ไปเลยแม้สักครั้ง

ชัชวรรณ สิทธิชัย แม่โสสะผู้เสียสละ

“เหนื่อยมาก แต่ก็คิดว่าเราเป็นคนที่โชคดีมาก เราภูมิใจที่เกิดมาครั้งหนึ่งได้ช่วยเหลือคนอื่น ...เวลาลูกๆ มารวมตัวกัน กลับมาหาเราอีก อย่างเช่นในวันแม่ พอเราได้เห็นว่าเขาเติบโตจนสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ และมีชีวิตที่ดี มันคือความประทับใจ เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าความรักเป็นอย่างไร เราก็แค่อยากดูแลและเห็นเขาเติบโต ประสบความสำเร็จ เวลาได้เห็นลูกมีความสุข แม่ก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องเป็นใหญ่เป็นโต หรือดีเลิศ แค่เขาสามารถพึ่งพาดูแลตัวเองได้ก็พอ ขอแค่คิดถึงกัน กลับมาหากันบ้างก็พอ” 

แม่โสสะ อาชีพแม่ที่ไม่ได้สิ้นสุดไปตามหน้าที่

แม้วันนี้ ชัชวรรณจะต้องเกษียณแล้ว แต่เธอจะยังเป็นแม่ของเด็กๆ ทุกคนอยู่เสมอ และพร้อมส่งต่อแนวคิดที่ได้เรียนรู้มา สู่แม่โสสะคนต่อๆ ไปที่จะก้าวเข้ามารับหน้าที่ต่อจากเธอ 

“ที่นี่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีชีวิตอยู่ ไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่เป็นบ้านของเรา ...อยากให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เด็กเขาไม่มีใคร คำว่า แม่ ต้องทำหน้าที่ให้ได้ทุกอย่าง ทั้งดูแลเด็ก ดูแลบ้าน ไม่ใช่เฉพาะทางกายภาพเท่านั้น แต่ในเรื่องของจิตใจด้วย ต้องคอยสังเกต อดทน และเข้าใจ เข้าให้ถึงหัวใจของเด็กๆ”

แม่โสสะ คือตัวตนของคนคนหนึ่งที่ไม่ต่างจาก “แม่” คนอื่นทั่วไป แม้ทั้งแม่และลูกโสสะที่เข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกันนี้ จะไม่ได้ร่วมสายเลือดเดียวกัน แต่ความรักและความผูกพันที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึง “หัวใจของความเป็นแม่” ที่แม้วันนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่ดังเดิมแล้ว แต่หัวใจดวงเดิมที่อิ่มเต็มด้วยความรักและห่วงใยลูกทุกคน จะยังคงอยู่ตลอดไปตราบชั่วชีวิต