เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะวัยไหน ก็อยู่ร่วมกันได้

เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะวัยไหน ก็อยู่ร่วมกันได้

“แม้เราเข้าใจพื้นฐานของชีวิต จากชุดประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาก่อน แต่เราจะตัดสินใจเรื่องราวทั้งหมดจากประสบการณ์ที่เราผ่านมาทั้งหมดไม่ได้  ต้องให้โอกาสลูกได้เรียนรู้ถูกผิดด้วยตัวของเขาเอง ส่วนตัวเรา ทำได้แค่เป็นผู้คอยแนะนำ ให้กำลังใจ และช่วยเหลือในวันที่เขาต้องการ เพราะชีวิตนี้เป็นของลูก”   คำบอกเล่าจากแม่อ้อย-ลักษณี เลื่อนล่อง ที่กำลังสะท้อนให้เราได้เข้าใจถึงการลด “ช่องว่างระหว่างวัย” ในการเลี้ยงดูลูกในครอบครัวโสสะ

ช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย หนึ่งในสาเหตุของการเกิดความขัดแย้งในทุกสังคม ตั้งแต่ครอบครัว ที่ทำงาน รวมไปถึงการดำเนินชีวิต ถ้าหากเราจัดการกับปัญหาช่องว่างระหว่างวัยนี้ โดยไม่เหมาะสม หรือมองว่า เป็นเรื่องธรรมดา แล้วปล่อยให้ผ่านเลยไป ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง จนลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เกินแก้ไขไปได้ในที่สุด 

ลักษณี เลื่อนล่อง - เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะวัยไหน ก็อยู่ร่วมกันได้


“ความท้าทายของการเป็นคุณแม่โสสะสำหรับแม่แล้วนั้น คือการที่ต้องเลี้ยงลูก 8-10 คน แต่ละคนแตกต่างที่มา เมื่อลูกคนนี้ออกจากการเลี้ยงดูของครอบครัวโสสะไปแล้ว ก็รับเด็กใหม่เข้ามาอยู่แทน เป็นการเลี้ยงลูกแบบไม่มีที่สิ้นสุด และลูกๆ จะมีหลายช่วงวัย ตั้งแต่แบเบาะจนถึงปริญญาตรี ต้องดูแลและใส่ใจทุกรายละเอียดของเขา ไม่ว่าจะกิน จะนอน จะไปโรงเรียน หรือทำอะไร แล้วส่งพวกเขาให้ถึงจุดหมายปลายทาง สามารถเลี้ยงดูตัวเอง และอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมนี้ได้อย่างปกติสุขที่สุด”

“หากพูดถึงหัวอกของคนเป็นแม่ พอพวกเขาเข้ามาเป็นลูกเราแล้ว เราก็จะรักและหวังดี แต่เรื่องเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคิดและระวังอยู่เสมอ เพราะบางครั้งอาจทำให้เขาไม่เข้าใจ ถ้าหากเราไม่มีการพูดคุยกัน เราจะดูเป็นคนที่ยุ่งวุ่นวายในชีวิตของเขามากเกินไป แต่ในบางเรื่องก็ต้องใช้เวลา ให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้ชีวิต เขาถึงจะเข้าใจในความห่วงใยที่เรามี หรืออย่างเรื่องที่เขาเรียนไม่เก่ง เราไม่จำเป็นต้องไปกดดัน แค่ ‘เข้าใจ’ และทำให้เขาผ่านมันไปให้ได้ก็พอ”

ลักษณี เลื่อนล่อง - เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะวัยไหน ก็อยู่ร่วมกันได้

“เราเลี้ยงลูกหลายคน ‘การจัดการกับอารมณ์ของตัวเราเอง’ เป็นสิ่งสำคัญ  เวลาที่เจอกับเรื่องที่แก้ไขยากๆ เราต้องหยุดนิ่งและตั้งสติ ทบทวนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะไปพูดคุยกับลูก เพราะเราโตกว่าเขา จะไปทะเลาะกับลูกมันไม่ใช่วิธีการที่ดี มีแต่จะสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในครอบครัว”

“หรือหากพูดไปถึงเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตรงจุดนี้ เราต้องเป็นคน ‘ปรับตัวเข้าหาลูก’ อยากเข้าไปอยู่ในสังคมของพวกเขา ก็ต้องเรียนรู้และพยายามเข้าใจ ถ้าไม่ได้จริงๆ อย่างเรื่องแอปพลิเคชันบางตัว แม่ก็ขอให้ลูกช่วยสอน กลายเป็นว่า เรามี ‘กิจกรรมให้ทำร่วมกัน’ ลูกก็จะรู้สึกว่า เขาสำคัญสามารถช่วยเหลือแม่ได้”

เรื่องวัยที่แตกต่างกัน อาจไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญ ถ้าเรารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่องว่างระหว่างวัย ก็จะแคบลงและหมดไป ถึงต่างวัย ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข