วิถีแห่งรัก ...ชีวิตในครอบครัวโสสะ

วิถีแห่งรัก ...ชีวิตในครอบครัวโสสะ

รถยนต์สองแถวสีขาว บรรทุกเด็กนักเรียนที่นั่งมาเต็มทั้งสองฝั่งซ้าย ขวา วิ่งเข้ามาภายในหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู สมุทรปราการ และจอดนิ่งสนิทที่หน้าอาคารสำนักงานฯ เด็กๆ กรูกันลงจากรถ บ้างวิ่ง บ้างเดิน เพื่อแยกย้ายกันเข้าบ้าน

เด็กชายวัยสิบสามปี ผิวเข้ม นัยน์ตาคม ใบหน้าเรียบเฉย แต่งตัวด้วยชุดนักเรียน ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยกระเป๋าเป้บนหลัง พร้อมแก้วเฉาก๊วยใส่น้ำแข็งเย็นฉ่ำที่ถือไว้ในมือหนึ่ง ก้าวลงมาจากรถพร้อมกับน้องที่อยู่บ้านติดกัน บ้านที่เขาอาศัยอยู่ต้องเดินเข้าไปข้างใน ผ่านอาคารเรียนอนุบาลซึ่งเขาเคยเรียน ก่อนจะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ด้านนอกหมู่บ้าน ปัจจุบันน้องคนเล็กที่สุดในบ้านของเขาก็กำลังเรียนอยู่ที่นี่เหมือนกัน

เมื่อถึงหน้าบ้าน เขาถอดรองเท้านักเรียนออก และผลักไปที่ประตูบ้าน ทันทีที่ประตูบ้านเปิดออกเขาเห็นหลังของผู้หญิงที่ขึ้นชื่อว่า “แม่” มือไม้ของแม่เป็นระวิง จับนั่นหยิบนี่ กำลังขะมักเขม้นทำอาหารเย็นไว้ให้ลูกๆ ได้ทาน

ผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่แม่แท้ๆ ของเด็กที่อยู่ในบ้านทั้งสิบคน แต่ทุกสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่มันไม่ได้แตกต่างจากหน้าที่ของแม่ผู้ให้กำเนิดลูกโดยทั่วไปที่เขาทำกัน ทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับลูก แม่จะดูแลทั้งหมด แม้กระทั่งเรื่องของ “การให้ความรัก”

“แม่ครับ สวัสดีครับ”
“สวัสดีจ๊ะลูก กลับมาแล้วเหรอ”

ใบหน้าของน้องไกด์เปื้อนไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขและอบอุ่นหัวใจ เมื่อได้ยินเสียงของแม่วรรณา ซึ่งเป็นคุณแม่โสสะที่ให้การเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่วัยเยาว์

“แม่ครับ วันนี้ไกด์ซื้อเฉาก๊วยที่แม่ชอบกินมาให้แม่ด้วยครับ”
“ขอบใจนะ แล้วหนูไม่เก็บเงินไว้กินขนมล่ะ”
“ไกด์อยากซื้อมาให้แม่ครับ ไกด์รู้ว่าแม่ชอบทาน และแม่ก็ไม่ค่อยมีเวลาได้ออกไปไหนด้วย”

แม่ยื่นมือข้างหนึ่งไปรับแก้วที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมาย มันมีค่ามากกว่าแค่น้ำเฉาก๊วยธรรมดาราคาสิบบาท แต่มันคือน้ำใจ และกำลังใจที่เด็กชายเองได้หยิบยื่นให้กับผู้เป็นแม่ได้ชุ่มฉ่ำหัวใจ บนใบหน้าของแม่เปื้อนยิ้มและมืออีกข้างของแม่ยื่นไปลูบหัวของลูกชายด้วยความรักใคร่เอ็นดู

ก่อนที่น้องไกด์จะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู สมุทรปราการ ชีวิตเด็กชายตัวน้อยต้องเดินอยู่เพียงลำพังบนหนทางที่ไร้ผู้คนเหลียวแล ความรู้สึกนึกคิดให้หวั่นไหว หวาดกลัว และโดดเดี่ยว

แต่มาในวันนี้ น้องไกด์มีครอบครัวที่อบอุ่นอีกครั้ง มีแม่วรรณา (คุณแม่โสสะ) ที่คอยให้ความรัก ความเอาใจใส่ มีน้องๆ ที่ถึงแม้จะถือกำเนิดและมีที่มาแตกต่างกัน แต่เมื่อมาอยู่ร่วมในบ้านหลังเดียวกัน พวกเขาก็เป็นพี่น้องกันคอยช่วยเหลือเกื้อกูล หรือแม้กระทั่งหัวเราะ และร้องไห้ด้วยกัน

“วันนี้แม่จะทำผัดผักกับต้มซุปไก่ ไกด์มาช่วยแม่นะลูก วันหนึ่งที่ไกด์ออกไปอยู่ข้างนอกจะได้ทำเป็น”
“ไกด์ไม่อยากทำเป็น และไม่อยากไปอยู่ข้างนอกเลยครับ”
“เราต้องยอมรับความเป็นจริงของชีวิตนี้ให้ได้นะลูก ถ้าหนูไม่ออกไป เด็กคนอื่นๆ ที่เขาก็ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะไม่สามารถเข้ามาอยู่ที่นี่ได้ และพวกเขาก็จะไม่มีโอกาสเหมือนอย่างลูก เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ลูกก็ยังกลับมาเยี่ยมแม่และน้องได้ แต่วันนี้ลูกต้องทำหน้าที่ของลูกให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการเรียน เพราะมันจะเป็นต้นทุนชีวิตให้กับลูก ที่จะสามารถออกไปอยู่ในสังคมได้ไม่ลำบาก”
“และผมจะต้องเป็นเด็กดี เป็นคนดีด้วยใช่ไหมครับ แม่จะจบด้วยประโยคนี้ทุกครั้งไปสิน่า”
สองแม่ลูกหัวเราะ แล้วก็ช่วยกันลงมือทำอาหารเย็นต่อไป

เรื่องราวของน้องไกด์และแม่วรรณาเป็นอีกหนึ่งบรรยากาศความรัก ภาพแห่งวิถีชีวิตในครอบครัวโสสะ ที่ฉายชัดและดำเนินไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กว่า 700 วิถีชีวิตที่ยังคงดำเนินต่อไป และอีกหลายร้อยหลายพันชีวิตที่ยังรอคอยโอกาสที่สองจากท่านธารน้ำใจของผู้มีจิตเมตตา ที่ไม่เพียงหล่อเลี้ยงร่างกาย หากยังหล่อหล่อมจิตใจให้สังคมน้อยๆ ในครอบครัวโสสะอันอบอุ่น ได้เข้มแข็ง และเติบโตเพื่อเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมอีกส่วนหนึ่งต่อไป


*หมายเหตุ: ชื่อของเด็กในบทความนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมเพื่อเป็นไปตามนโยบายด้านสิทธิเด็ก