จะดีแค่ไหน ถ้าเรามีกันและกัน

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามีกันและกัน

    คำพูดแสนเรียบง่ายนี้อาจดูธรรมดาและไม่ได้มีความหมายกระทบใจใครหลายคนมากมายนัก แต่หากสำหรับคนที่เคยสูญเสียครอบครัว จนแทบเรียกได้ว่าไม่เหลือใครอีกแล้วในชีวิต กระทั่งวันหนึ่งที่เขาได้รับโอกาสที่สองในชีวิต ได้เป็นส่วนหนึ่งและเติบโตขึ้นในครอบครัวที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ที่จะรักและได้รับความรักอันบริสุทธิ์จริงใจอีกครั้งแล้วนั้น คำว่า “เรามีกันและกัน” จึงมีความหมายอันยิ่งใหญ่และมีคุณค่าเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดได้

               ดังเช่นครอบครัวโสสะเล็กๆ ณ หมู่บ้านเด็กโสสะเชียงราย ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวต่างเข้าใจความหมายของคำนี้เป็นอย่างดี แม้แต่ข้าวหอม น้องเล็กสุดวัยสองขวบ “พี่ฟ่าง อุ้ม อุ้มหนู” เสียงร้องเรียกพี่ชายให้อุ้ม เมื่อวิ่งตามพี่คนอื่นๆไม่ทัน ขณะกำลังเล่นวิ่งไล่จับกันอยู่ ข้าวหอมเลยขอทางลัดให้พี่ข้าวฟ่าง พี่ชายที่ตอนนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นมือขวาของแม่ในการช่วยเลี้ยงน้องข้าวหอมไปแล้ว ช่วยอุ้มเธอให้ไล่จับพี่ๆได้ทัน เบื้องหลังเสียงหัวเราะสนุกสนานของเด็กๆร่วมสิบคนที่สนามหน้าบ้าน ใครเลยจะรู้ว่าเด็กแต่ละคนต่างมีภูมิหลัง หรือแม้แต่สายเลือดที่ไม่เกี่ยวพันกันเลยแม้แต่น้อยนั้น จะได้มาอยู่ร่วมกัน ใช้ชีวิตด้วยกันในครอบครัวโสสะ ครอบครัวเล็กๆแต่อบอุ่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักครอบครัวนี้


               “ขึ้นมากินข้าวกันได้แล้วลูก ข้าวฟ่างพาข้าวหอมไปล้างมือก่อนนะลูก”  เสียงคุณแม่ดังขึ้นมาจากบนบ้าน เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน คุณธีรารัตน์ ใจซื่อ คุณแม่ที่ดูแลครอบครัวนี้มาร่วมสามปีแล้ว จากพื้นฐานความเป็นคนรักเด็ก บวกกับความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะได้ทำงานและช่วยเหลือเด็กไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป หน้าที่ความรับผิดชอบกลับผูกโยงเป็นสายใยความรักความอบอุ่นระหว่างคุณธีรารัตน์และลูกๆ ที่ถักทอกันจนเหนียวแน่นขึ้นทุกที “ที่บ้านมักจะหากิจกรรมทำร่วมกันเสมอ เช่น ลองทำอาหารเมนูใหม่ๆ อาหารที่ออกมาก็เป็นไปอย่างที่หวังบ้าง ไม่เป็นบ้าง แต่มีความสุขทุกครั้งที่ทำอะไรร่วมกับลูกๆและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆร่วมกัน” อย่างอาหารมื้อนี้คุณแม่ได้น้องข้าวสวยกับข้าวเจ้าพี่สาวคนโตของบ้านเป็นลูกมือในการเตรียมเครื่องปรุงและโต๊ะอาหาร เมื่อพร้อมหน้ากันแล้วทุกคนก็ลงมือรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย นอกจากสำรับอาหารอันประกอบไปด้วย ข้าวเหนียว น้ำพริกอ่อง และผักจิ้มแล้ว น้องๆยังปูเสื่อนั่งล้อมวงกันโดยมีกำข้าววางอยู่บนโต๊ะเล็กๆคล้ายขันโตกตามแบบอย่างการรับประทานอาหารของชาวเหนือ ซึ่งคุณแม่ธีรารัตน์ก็ได้ช่วยอธิบายให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

แม่อยากให้ลูกๆรู้จักประเพณีวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตตามแบบท้องถิ่นของชาวล้านนา เพราะแม้เราจะมาจากคนละที่คนละทาง แต่ทุกคนก็เป็นคนเหนือเหมือนกัน แม่จึงอยากปลูกฝังขนบธรรมเนียมที่ดีงามของชาวเหนือให้กับลูกๆในบ้าน เรื่องง่ายๆเลยเช่นการล้อมวงกันกินข้าว ได้กินข้าวนึ่ง (ข้าวเหนียวในภาษาเหนือ) น้ำพริก โดยเฉพาะผักสดจะเป็นอาหารประจำของทุกมื้อ

คุณธีรารัตน์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

               ระหว่างที่พี่ๆ รับประทานอาหาร คุณแม่ต้องรับหน้าที่ในการดูแลน้องข้าวหอม ซึ่งนอกจากนมแล้วข้าวหอมยังต้องรับประทานอาหารเสริมตามคำสั่งของคุณหมอ เนื่องจากข้าวหอมมีสุขภาพไม่แข็งแรงตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิกของครอบครัว “ข้าวหอมจะไม่สบายบ่อยมาก ตั้งแต่รับเขามาอายุได้หนึ่งเดือน ตัวเล็กและมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ คุณแม่ก็ดูแลเขาใกล้ชิด ทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด พอสักหกเดือนน้ำหนักน้องก็เข้าเกณฑ์มาตรฐาน พัฒนาการตามวัย แต่ก็ยังไม่สบายค่อนข้างบ่อยโดยเฉพาะเวลาอากาศเปลี่ยน แต่คุณแม่โชคดีที่ได้ข้าวฟ่างเป็นพี่เลี้ยงให้กับข้าวหอม” คุณธีรารัตน์กล่าวถึงลูกชายวัยซน อายุ 8 ปี น้องข้าวฟ่างเรี่ยวแรงสำคัญในการดูแลน้องเล็กสุดในบ้าน ทั้งชงนม ล้างขวดนม เตรียมอาหารเสริม พาน้องไปเดินเล่นจนถึงพาข้าวหอมเข้านอน

               ซึ่งทั้งคุณแม่และก็เจ้าตัวต่างภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ นอกจากช่วยเลี้ยงข้าวหอมแล้ว ข้าวฟ่างยังช่วยดูแลน้องคนอื่นๆได้เป็นอย่างดี 


ผมรักน้องทุกคนครับ ไม่เฉพาะข้าวตังที่เป็นน้องของผมจริงๆ เพราะทุกคนคือน้องของผม ผมรักแม่และพี่ๆในบ้านด้วยครับ

ซื่อๆ ง่ายๆ แต่ใครเลยจะรู้ว่าเด็กชายบุคลิกร่าเริง ผู้มีแววตาซุกซนคนนี้ จะเคยมีปัญหาพัฒนาการด้านการเรียน เพราะไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษามาก่อน “ตอนที่รับข้าวฟ่างและข้าวตังเข้ามา น้องไม่เคยไปโรงเรียนมาก่อนเลย คุณแม่ต้องดูแลน้องใกล้ชิดทั้งเรื่องการเรียน และสุขลักษณะต่างๆในชีวิตประจำวัน อย่างการเข้าห้องน้ำและอาบน้ำ ฝึกอยู่นานพอสมควร แต่แล้วน้องก็ทำได้ กลายเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัย มีพัฒนาการตามวัยและที่สำคัญมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเกือบทุกครั้ง” นอกจากนี้ ข้าวฟ่างเองยังสดใส และซุกซนจนเพื่อนๆหลายคนในวัยเดียวกันจะยกให้เขาเป็นหัวโจก ที่ชอบนำเพื่อนเล่นสนุกไปทั่วหมู่บ้านทีเดียว บางครั้งที่อาจซนเกินไป จนคุณแม่ต้องเรียกมาตักเตือนบ้างบางครั้ง ทว่าเมื่อเห็นสีหน้าและท่าทางของลูกชาย ก็เกิดจังหวะใจอ่อนอยู่บ่อยๆ  อย่างไรก็ตาม เมื่อทำผิดแล้วก็ต้องได้รับการลงโทษตามสมควร น้องข้าวฟ่างจึงต้องไปเก็บใบไม้หรือถอนหญ้าหน้าบ้านตามแต่ละโอกาสและสถานการณ์ที่คุณแม่เห็นสมควร


               หลังรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ข้าวฟ่างและข้าวตังต้องไปเรียนดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักในช่วงบ่ายวันเสาร์ของหมู่บ้านฯที่จัดไว้ให้กับเด็กๆที่สนใจเข้าร่วมที่อาคารอนุบาลของหมู่บ้าน ข้าวฟ่างกำลังหัดเล่นสะล้อเล็กและขะมักเขม้นฝึกฝนเพื่อจะได้เล่นเป็นตัวจริงในวงสะล้อซอซึง เช่นเดียวกับพี่ๆคนอื่นๆในหมู่บ้าน “แล้วผมจะเล่นเพลงพื้นเมืองให้แม่ฟังในวันปีใหม่เมืองปีนี้ให้ได้ครับ” ข้าวฟ่างกล่าวก่อนรีบผละไปฝึกซ้อมเตรียมการแสดงของหมู่บ้าน สำหรับงานวันสงกรานต์ในสัปดาห์หน้าอย่างที่เขาได้ให้สัญญากับแม่ไว้ว่าจะทำให้แม่ชื่นใจให้ได้ เพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทยในปีนี้


               ช่วงบ่ายที่บ้านจึงเหลือแต่สาวๆ ที่ช่วยแม่เตรียมของสำหรับวันปีใหม่เมืองที่จะมาถึง “แม่คะ ทำไมเราต้องทำทั้งตุงและไม้ค้ำด้วยล่ะคะ ทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้หรือคะ” เสียงข้าวสวยพี่สาวคนโตของบ้านที่กำลังขะมักเขม้นกับการตัดกระดาษสีสันสดใส หันมาถามแม่ด้วยความสงสัย “ได้มันก็ได้อยู่หรอกจ๊ะ แต่แม่อยากให้หนูๆทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจประเพณีที่ถูกต้อง เพราะวันสงกรานต์สำหรับชาวเหนืออย่างเรามีความสำคัญมากกว่าการสาดน้ำกันนะ อย่างที่แม่เล่าให้ฟังแล้วว่าตุงที่เราทำกันจะไปปักไว้ที่กองทรายที่เราขนเข้าวัดในวันที่ 14 หรือวันเนาว์ แล้วพอวันที่ 15 หรือวันพญาวัน เราก็จะไปทำบุญตักบาตรที่วัดแต่เช้า พร้อมกับเอาตุงเจดีย์ทรายที่หนูทำอยู่นี้ไปปักไว้บนกองทรายที่เราได้ขนไปเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในวันปีใหม่ เพราะตุงคือสัญลักษณ์ของชัยชนะตามความเชื่อของชาวล้านนา สำหรับไม้ง่ามที่แม่เหลาให้ทุกคนไว้แล้วนั้น เราเรียกว่าไม้ค้ำสลี เพื่อเอาไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัดหลังจากปักตุงเสร็จ ตามศรัทธาความเชื่อของการค้ำจุนพระพุทธศาสนาจ๊ะ” แม่ไขข้อสงสัยให้กับพี่ข้าวสวยและลูกๆ คนอื่นๆ พร้อมกับเย็บชายเสื้อให้กับข้าวหอม เช่นเดียวกับชุดใหม่ที่ทุกคนจะได้ใส่ในวันปีใหม่เมืองเพื่อความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อของชาวไทยล้านนา ซึ่งแน่นอนว่าทุกชุดเป็นชุดพื้นเมืองเพื่อใส่ไปวัด และในพิธีสรงน้ำพระ รวมไปถึงรดน้ำดำหัวคุณแม่ คุณน้า คุณอาในหมู่บ้าน โดยเป็นชุดหม้อฮ่อมสำหรับลูกชายและชุดฝ้ายเข้าชุดกันสำหรับลูกสาว


               คุณแม่ธีรารัตน์ดูลูกตกแต่งตุงและไม้ค้ำสลีอย่างขะมักเขม้นจนกระทั่งหนุ่มๆ กลับมาสมทบหลังจากชั้นเรียนดนตรีไทยเสร็จ พร้อมกับความภาคภูมิใจที่ครูและคุณอาผู้อำนวยการหมู่บ้านคัดเลือกให้ข้าวฟ่างได้เล่นสะล้อเล็กในวงดนตรีพื้นเมืองของหมู่บ้านเด็กโสสะเชียงราย ซึ่งจะเล่นโชว์ในงานปีใหม่เมืองในปีนี้ ซึ่งคนที่ยิ้มไม่หุบจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากคุณแม่ธีรารัตน์ โดยเฉพาะตอนที่ข้าวฟ่างมาบอกและเอาหัวพิงไหล่คุณแม่อย่างที่เขาชอบทำ ซึ่งคงไม่มีอะไรจะเติมเต็มความสุขใจคนเป็นแม่ได้มากกว่านี้อีกแล้ว ข้าวฟ่างยังคงบรรยายถึงฉากตอนที่ได้รับคัดเลือกให้พี่ๆน้องๆฟังอยู่อีกหลายรอบ จนคุณแม่ให้ทุกคนแยกย้ายไปทำตุงของตัวเองให้เสร็จ ส่วนคุณแม่และพี่ข้าวสวยที่จะไปเตรียมอาหารเย็นที่แม่จะทำข้าวซอยไก่ให้ได้กินกันในมื้อเย็นนี้

               ถัดจากห้วงเวลาอันเรียบง่าย แต่ประทับใจผู้ที่ได้พบเห็น คุณแม่ธีรารัตน์ยังเล่าถึงอีกรายละเอียดเล็กๆ ที่แฝงไว้ด้วยแนวความคิดอันยิ่งใหญ่ที่หล่อเลี้ยงอยู่ในความรักของครอบครัวเล็กๆ นี้  


อย่างชื่อของลูกๆ ในบ้าน แม่จะให้ชื่อเป็นประเภทของต้นข้าวทุกคน เพราะแม่อยากให้ลูกๆ ภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินล้านนา ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์เปรียบได้กับทุ่งนานับแสนนับล้าน ได้เติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม และหล่อหลอมให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีคนหนึ่งของสังคมไทยในอนาคต

และในวันนี้เหล่าต้นกล้าที่แม่ได้ฟูมฟักเลี้ยงดู ได้หยั่งรากลงพื้นแผ่นดินล้านนาแห่งนี้ เพื่อรอวันเติบใหญ่เป็นต้นข้าวที่เจริญงอกงามและให้คุณค่ากลับคืนสู่ผินแผ่นดินต่อไป ถึงแม้ก่อนหน้านี้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้อาจไม่ได้รับการใส่ใจเมื่อครั้งเพาะลงดินหรือขาดผู้เลี้ยงดูในช่วงต้น แต่เราทุกคนสามารถประคับประคองให้ต้นกล้าเล็กๆเหล่านี้ให้เติบใหญ่เป็นคนที่มีคุณภาพและคุณธรรมของสังคมไทยต่อไปได้ เพียงรดรินด้วยน้ำใจ และใส่ปุ๋ยแห่งความรักอย่างพอเพียง


               “พี่ข้าวฟ่างจูงหนูหน่อย” ข้าวหอมร้องเรียกพี่ข้าวฟ่าง เดินไปสวดมนต์เย็นร่วมกันกับเด็กๆในหมู่บ้านที่อาคารอนุบาล เป็นภาพที่ใครเห็นต้องประทับใจในความอ่อนโยนและอาทรของพี่ชายผู้แสนดีคนนี้ ภาพพี่น้องจูงมือเดินไปช้าๆตามทางเดินของหมู่บ้านเป็นภาพที่อบอุ่นอย่างประหลาดสำหรับคนที่ต่างที่มาต่างภูมิหลัง แต่ได้มาอยู่ร่วมกันและเติบโตมาด้วยกัน และคงดีไม่น้อยหากจะมีมือของผู้ใหญ่ใจดีร่วมกันจูงมือเล็กๆเหล่านี้ให้ไปถึงฝั่งด้วยกัน เพียงเพราะวันนี้เรามีกันและกัน และจะยังเป็นอย่างนี้ตลอดไป

               หมู่บ้านเด็กโสสะเชียงราย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นหมู่บ้านลำดับที่ 4 ของมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กไทยที่สูญเสียพ่อแม่ ขาดญาติมิตรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ปัจจุบันมีเด็กในการดูแลจำนวน 140 คน ในบ้านของครอบครัวโสสะทั้ง 14 หลัง นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในระดับอนุบาล 1-3 ให้บริการทางการศึกษาสำหรับเด็กวัยอนุบาลทั้งเด็กจากครอบครัวโสสะและจากชุมชนโดยรอบหมู่บ้าน