no-corporal-punishment-law-active

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อน “กฎหมายไม่ตีเด็ก” มีผลบังคับใช้แล้ว

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กฎหมายไม่ตีเด็ก" ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป


โดยสาระสำคัญของการแก้ไข มาตรา 1567 (2) คือ การกำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครอง เช่น พ่อแม่ มีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมได้ แต่ต้องไม่เป็นการกระทำที่ทารุณ ใช้ความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขเพียงอนุมาตราเดียว แต่มีผลกระทบเชิงบวกอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองสิทธิเด็กในประเทศไทย

no-corporal-punishment-law-active

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งดำเนินงานภายใต้หลักการของ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และนโยบายคุ้มครองเด็กของมูลนิธิฯ ขอแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเด็กของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ สื่อสาร และขับเคลื่อนประเด็น “การยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก” ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ และประชาชนทั่วไป โดยมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กอย่างเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กทุกคน

no-corporal-punishment-law-active

ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายที่ยึดหลักสิทธิเด็กอย่างแท้จริงความสำเร็จครั้งนี้สะท้อนถึงพลังของความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะความทุ่มเทของ มูลนิธิเด็กโสสะฯ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคม ที่ได้ร่วมกันผลักดันอย่างต่อเนื่องในการยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และการเคารพในสิทธิของพวกเขา