ภัยร้ายหน้าร้อน 4 แนวทางป้องกันเด็กจมน้ำ

มูลนิธิเด็กโสสะ-ภัยร้ายหน้าร้อน 4 แนวทางป้องกันเด็กจมน้ำ-banner

ทราบไหมคะ? ว่าอัตราการเสียชีวิตของเด็กไทยมาจากการจมน้ำเป็นอันดับ 1 ซึ่งนับเป็นอันตรายที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และที่น่าตกใจ คือ ในเด็กเล็กที่ยังมีการทรงตัวไม่ดีนัก สามารถจมน้ำเสียชีวิตได้ในระดับน้ำที่มีความสูงเพียง 1-2 นิ้วเท่านั้น

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค (3 มีนาคม 2566) เผยสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 - 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม (เดือนมีนาคม - พฤษภาคม) จำนวน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย เดือนเมษายนพบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2556 - 2565 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,403 คน เฉลี่ยปีละ 3,640 คน หรือวันละกว่า 10 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 6,992 คน

มูลนิธิเด็กโสสะ-4 แนวทางป้องกัน ลดความเสี่ยงเด็กจมน้ำ-infographic

4 แนวทางป้องกัน ลดความเสี่ยงเด็กจมน้ำ

ข่าวการพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่เกิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ที่เด็กๆ มักจะพากันไปเล่นน้ำที่สระว่ายน้ำ ทะเล น้ำตก หรือตามแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้บ้าน ซึ่งหากขาดการดูแลจากผู้ปกครอง หรือไม่ได้รับความรู้ด้านการป้องกันตนเอง จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยง เด็กจมน้ำ มากขึ้น มูลนิธิเด็กโสสะฯ จึงอยากแนะนำแนวทางวิธีการป้องกันเด็กจมน้ำ เพื่อช่วยดูแลเด็กให้ห่างไกลจากความเสี่ยงค่ะ

1. ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด 

การปล่อยให้เด็กอยู่เพียงลำพัง โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี แค่เพียงเสี้ยววินาทีที่คุณพ่อคุณแม่หันหลังไปหยิบโทรศัพท์ ปิดประตู หรือทำธุระ ก็อาจจะสร้างความเสี่ยงให้เด็กจมน้ำได้

  • เด็กอายุ 1-4 ปี มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจมน้ำในบริเวณรอบบ้านมากที่สุด

ภาชนะแหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ถังน้ำ กะละมัง ตุ่มน้ำ บ่อปลา หรือแม้กระทั่งชักโครก ล้วนเป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กเล็กคลาน/เดินเล่นรอบบ้านเพียงลำพัง และป้องกันโดยการปิดประตูห้องน้ำ เทน้ำออกจากภาชนะหลังใช้งาน หรือปิดฝาให้สนิท/ล็อกได้ทุกครั้ง รวมถึงสร้างรั้วกั้นบริเวณบ่อน้ำ บ่อปลา เพื่อป้องกันเด็กลื่นตกลงไป

  • เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป มีโอกาสจมน้ำจากการเล่นน้ำในแหล่งชุมชน/แหล่งท่องเที่ยว

เด็กในวัยนี้สามารถเริ่มดูแลตัวเองได้มากขึ้น แต่ตามธรรมชาติของเด็กมักมีความซน ความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นจึงควรอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเช่นกัน และไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำลำพังค่ะ
 

2. สอนเด็กให้ป้องกันตนเองจากความเสี่ยงจมน้ำ 

น้องโสสะขอแนะนำข้อมูลดีๆ จาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค (กลุ่มป้องกันการบาดเจ็บ) กับ 3 หัวข้อสอนลูกหลาน เพื่อช่วยป้องกันอันตรายให้กับเด็กๆ ค่ะ

"อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม" จำง่าย ท่องไว้ ไม่ประมาท

อย่าใกล้ – เมื่อเจอแหล่งน้ำ หรือเล่นใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ
อย่าเก็บ - เมื่อเห็นสิ่งของอยู่ในน้ำ / ตกลงไปในน้ำ อย่าเก็บเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บให้
อย่าก้ม - อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ/ภาชนะ เช่น โอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจจะหัวทิ่มลงไป
 

3. เรียนว่ายน้ำ สร้างทักษะป้องกันตัวเอง

การว่ายน้ำ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกายแล้ว ยังช่วยให้เด็กๆ ไม่กลัวน้ำ มีทักษะสามารถเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุทางน้ำได้ค่ะ โดยจากข้อมูลสถาบันสุขภาพเด็กและการพัฒนามนุษย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIHCD) ระบุว่า เด็กที่เริ่มเรียนว่ายน้ำตั้งแต่ช่วงอายุ 1–4 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายที่เกิดจากการจมน้ำได้ถึง 88%

เด็กเริ่มเรียนว่ายน้ำได้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

  • เด็กทารกวัย 3-4 เดือน  คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มฝึกให้ลูกคุ้นชินกับน้ำได้ โดยลองเริ่มใช้ห่วงยางสวมศีรษะของลูกเพื่อช่วยพยุงตัวในน้ำ ให้ลูกลอยตัว แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีและใช้ความระมัดระวังมากๆ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ
  • วัย 1 ปีขึ้นไป สามารถฝึกเรียนการทรงตัว การกลั้นหายใจและลอยตัวในน้ำได้ โดยสมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา แนะนำให้เด็กวัย 1 ขวบขึ้นไป เริ่มเรียนว่ายน้ำเพื่อป้องกันการจมน้ำ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการด้านการควบคุมร่างกาย และด้านภาษา เข้าใจการสื่อสารได้ดีขึ้น ซึ่งควรเริ่มต้นจากการมีคุณพ่อคุณแม่ร่วมเรียนไปกับผู้เชี่ยวชาญด้วย

นอกจากนี้ควรเลือกสระน้ำที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่ระคายเคืองต่อเด็ก ได้แก่ สระน้ำระบบน้ำเกลือ สระน้ำระบบโอโซน สระน้ำระบบน้ำอุ่น (ที่มีอุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส เหมาะกับเด็กทารก) และที่สำคัญควรเป็นการเล่นน้ำให้สนุก ร่วมกับการอธิบายถึงความสำคัญของการเรียนว่ายน้ำควบคู่กันไป

อย่างไรก็ตาม แม้การว่ายน้ำเป็น จะช่วยให้เด็กมีโอกาสเอาตัวรอดจากน้ำได้ แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะปลอดภัยจากการจมน้ำ 100% เนื่องด้วยปัจจัยทางด้านคลื่น ลม และสภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำที่อันตราย ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือความไม่ประมาทค่ะ และตัวผู้ปกครองเองควรเรียนรู้การช่วยเหลือเด็กเมื่อเกิดเหตุได้อย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน
 

4. เรียนรู้กฎความปลอดภัย และการเอาตัวรอดในน้ำ

  • สอนให้เด็กสวมชูชีพทุกครั้งที่ต้องเดินทางทางน้ำ

โดยผู้ปกครองต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขาจดจำด้วยค่ะ และการลงเล่นน้ำทุกครั้งควรมีผู้ใหญ่อยู่ในระยะที่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ และสวมชูชีพเพื่อความปลอดภัย

  • สอนให้รู้จักการช่วยเหลือคนจมน้ำอย่างถูกต้อง

การที่เด็กๆ พยายามกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่จมน้ำ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก! เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยเรียน  ผู้ปกครองควรสอนให้เข้าใจหลักการช่วยเหลือคนจมน้ำอย่างถูกต้อง น้องโสสะขอแนะนำข้อมูลหลัก 3 ข้อจากกระทรวงสาธารณสุข "ตะโกน โยน ยื่น" ดังนี้
ตะโกน - ขอความช่วยเหลือ ให้ผู้ใหญ่มาช่วย หรือโทร 1669
โยน - สิ่งของรอบตัวให้เกาะลอยตัวหรือช่วยเหลือ เช่น ห่วงยาง แกลลอน ถังน้ำ ฯลฯ
ยื่น - สิ่งยาวๆ เช่น ไม้ยาว เชือก ให้หยิบจับเพื่อดึงเข้าฝั่ง โดยตนเองต้องยืนอยู่ในพื้นที่มั่นคงไม่ลื่นไถล

  • สอนให้เด็กรู้จักทักษะการเอาตัวรอดในน้ำ

เด็กควรเรียนรู้การลอยตัวในน้ำให้ได้อย่างน้อย 3 นาที เพื่อหากเกิดพลัดตกน้ำที่ริมฝั่ง จะได้ลอยตัวกลับขึ้นมาได้ หรือเมื่อตกน้ำในจุดที่ไกลฝั่งมากๆ ควรใช้การลอยตัวอยู่ในน้ำให้ได้นานที่สุดเพื่อรอการช่วยเหลือ ไม่พยายามว่ายเข้าหาฝั่งจนหมดแรงก่อน
 

เตรียมความพร้อม ลดความเสี่ยง เด็กจมน้ำ

มูลนิธิเด็กโสสะ - หมู่บ้านเด็กโสสะหาดใหญ่ เด็กเที่ยวทะเล

มูลนิธิเด็กโสสะฯ ให้ความสำคัญกับทุกทักษะที่จะช่วยพัฒนาชีวิตเด็กๆ ให้ปลอดภัย สามารถดูแลตนเองได้ โดยในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เด็กๆ ในหมู่บ้านเด็กโสสะ จะมีโอกาสได้ไปพักผ่อน ทำกิจกรรม และเรียนรู้ในสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงกับหมู่บ้าน เช่น น้ำตก ทะเล ฯลฯ โดยมีคุณแม่และเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับน้ำ เรียนรู้ธรรมชาติ และวิธีการป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเสริมสร้างทักษะอีกด้วยค่ะ

มูลนิธิเด็กโสสะ - หมู่บ้านเด็กโสสะหนองคาย เด็กเรียนว่ายน้ำ

 

อ้างอิง

กรมประชาสัมพันธ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กรมควบคุมโรค
M.O.M

Copyright © All Right Reserved