แม่โสสะ

“แม่โสสะ” แม่ผู้เสียสละ

แม่โสสะ คือ ผู้หญิงที่เสียสละอุทิศตนเพื่อเป็นแม่ให้แก่เด็กๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยสูญเสียบิดา มารดา คอยเฝ้าฟูมฟักมอบความรัก ความอบอุ่น ให้กับลูกๆ ประหนึ่งเกิดจากครรภ์ของตนเอง คุณสมบัติของคุณแม่โสสะ คือ เป็นหญิงโสด ไม่มีภาระผูกพันทางครอบครัว อายุระหว่าง 25 - 40 ปี ในช่วง 2 ปีแรก จะเข้ามาฝึกทำหน้าที่เป็น “น้าโสสะ” ซึ่งต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับความรู้ทางจิตวิทยาเด็ก กฎหมายด้านสิทธิเด็ก โรคภัยไข้เจ็บและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่เด็ก การทำอาหาร การจัดสวน การตกแต่งบ้าน รวมถึงความพร้อมทางด้านจิตใจด้วย จากนั้นจึงจะทำหน้าที่เป็น “แม่โสสะ” ได้อย่างสมบูรณ์ แม่โสสะหนึ่งคนจะดูแลลูกๆ ประมาณ 10 - 12 คน แม่บางท่านเลี้ยงลูกมาแล้วกว่า 20 คน มอบความรัก การดูแลเอาใจใส่ ให้พวกเขามีวัยเด็กที่เปี่ยมสุข ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

          ดังเรื่องราวของคุณแม่กรองทิพย์ อักษรสว่าง  หนึ่งในคุณแม่โสสะผู้อุทิศตนในการเลี้ยงดูเด็กๆ ในมูลนิธิเด็กโสสะฯ ปัจจุบันคุณแม่กรองทิพย์มีอายุ 48 ปี เป็นคุณแม่โสสะอยู่ที่หมู่บ้านเด็กโสสะ บางปู สมุทรปราการ เธอเสียสละตนตลอดระยะเวลา 21 ปี เพื่อเฝ้าเลี้ยงดูเอาใจใส่ และมอบความรักให้แก่ลูกๆ โสสะ เด็กที่ครั้งหนึ่งเคยถูกทอดทิ้ง ไม่มีพ่อแม่ ไร้ญาติขาดมิตร ให้พวกเขาได้รับความรักความอบอุ่น มีวัยเด็กเฉกเช่นเด็กๆ ทั่วไป และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตนเองได้ และเป็นคนดีของสังคม


          ก่อนหน้านี้คุณแม่กรองทิพย์มีอาชีพเป็นพนักงานโรงแรมทั่วไป แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจมาทำหน้าที่เป็นแม่โสสะ แม่กรองทิพย์ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นภาระหน้าที่ เพราะทำด้วยใจ และภูมิใจเมื่อเห็นลูกๆ ที่เลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่การงานที่ดี แม่กรองทิพย์สอนลูกๆ เสมอว่าลูกไม่ใช่เด็กที่มีปมด้อย อย่าปิดกั้นโอกาสของตัวเอง และขอให้มีความมั่นใจในการใช้ชีวิต

         

ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา ได้เลี้ยงลูกโสสะมาแล้ว 34 คน  เนื่องจากลูกๆ จบการศึกษาและออกไปประกอบอาชีพกันแล้ว ทุกๆ วันจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อเตรียมอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้ให้ลูกๆ ไปโรงเรียน การเลี้ยงดูลูกๆ จะคิดเสมอว่าเขาเป็นลูกของเราจริงๆ ไม่เคยคิดว่าเป็นลูกของใคร โดยมอบความรัก ความเอาใจใส่ให้กับเขาอย่างเต็มที่ เพราะพวกเขามีเราเท่านั้นที่เป็นเสมือนแม่ แต่ในช่วงแรกๆ เราจะยังไม่ค่อยชิน อย่างเวลาลูกไปโรงเรียน เราจะแค่คิดว่าลูกไปโรงเรียน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เกิดความรักความผูกพันมากขึ้นๆ กลายเป็นเวลาลูกไปโรงเรียน ความรู้สึกห่วงใยก็เกิดขึ้นในทันที หรือแม้กระทั่งลูกไม่สบาย ก็จะเป็นห่วงเขามากๆ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

สิ่งที่สอนลูกๆ มาตลอด คือให้รักพี่ รักน้อง สิ่งที่แม่ให้ได้คือ การดูแล ห่วงใย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ต่อไปในชีวิตของลูก คือการศึกษา ขอให้ทุ่มเทกับการเรียนอย่างเต็มที่ และจะปลูกฝังเขาว่า เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกทางเดินได้ เราเดินไปพร้อมคนอื่นได้ สำหรับลูกผู้หญิงจะสอนกิริยามารยาท ให้รักนวลสงวนตัว สอนการบ้านการเรือนเป็นพิเศษ เผื่อในอนาคตเขามีครอบครัว จะได้มีแต่คนรัก และเอ็นดูเขา ส่วนลูกผู้ชายจะสอนให้เขาแข็งแกร่งปกป้องผู้หญิง


          แม้ว่าลูกๆ หลายคนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และออกไปสู่สังคมแล้ว คุณแม่โสสะก็ยังคงรู้สึกห่วงใย คิดถึงลูกๆ เสมอ กว่าที่หนึ่งชีวิตวัยเยาว์ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้นั้น สิ่งจำเป็นมิใช่เพียงแค่อาหาร ที่อยู่อาศัย หรือวัตถุสิ่งของใดๆ หากแต่ด้วยความรัก ความผูกพัน ที่เชื่อมโยงจากแม่สู่ลูก จากรุ่นสู่รุ่น ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก แม้เราทุกคนจะไม่สามารถเป็นกำลังหลักในการส่งต่อความรัก และร่วมสร้างชีวิตใหม่ให้กับเด็กๆ แต่เราทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยกันหยิบยื่นความสุขกับโอกาสที่สองในชีวิตของเด็กๆ ได้ เป็นน้ำใจและความรักที่แม้วัดมูลค่าไม่ได้ แต่มีความหมายอันยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของผู้ให้ และเติมเต็มจิตใจของผู้รับให้เต็มอิ่มได้อย่างแท้จริง