คุณวนิดา ลูกโสสะหาดใหญ่

คุณวนิดา ลูกโสสะหาดใหญ่

ในยามเย็นที่ท้องฟ้ากำลังมืดครื้ม ต้นไม้ลู่ตามลม มีเม็ดฝนกำลังร่วงหล่นลงมาอย่างปรอยๆ และมันเริ่มหนาตาขึ้นเรื่อยๆ รถมอเตอร์ไซค์สีดำคันหนึ่งถูกขับแข่งกับสายฝนเข้ามาจอดภายในหมู่บ้านเด็กโสสะหาดใหญ่ สงขลา บริเวณหน้าบ้านหมายเลข 11 คนขับรถถอดหมวกนิรภัย และเร่งรีบเอาถุงอาหารสองสามอย่างที่แขวนไว้แล้ววิ่งเข้าบ้านไป

ไข่มุก หรือวนิดา ต๊ะปัญญา อีกหนึ่งความสำเร็จของลูกโสสะหาดใหญ่ สงขลา เธอผู้ซึ่งไม่เคยแบกปัญหาของคำว่า “เด็กกำพร้า” ให้มาเป็นภาระของจิตใจในการดำเนินชีวิต เธอมองโลกแห่งความเป็นจริง และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นจึงทำให้ไข่มุกใช้ชีวิตไปอย่างถูกครรลองคลองธรรม

อดีตในวัยเด็กที่ผ่านมา เข้ามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไรนั้น ยากเกินกว่าที่จะจำได้ เพราะเข้ามาอยู่ตั้งแต่วัยยังแบเบาะ รู้แค่ว่าพอจำความได้ก็มาอยู่ที่หมู่บ้านเด็กโสสะแล้ว มีคุณแม่โสสะให้การดูแลคอยเอาใจใส่ มีพี่น้องภายในบ้านที่เติบโตมาด้วยกัน

ที่นี่ได้พยายามสร้างและทดแทนสิ่งที่เด็กๆ ได้เคยขาดหายไป นั่นก็คือ “ครอบครัว” ความแตกต่างของครอบครัวโสสะอาจจะดูแย้งย้อนกับสภาพสังคมครอบครัวภายนอก ก็คือเราเป็นครอบครัวที่ใหญ่เพียงเท่านั้น แต่ในเรื่องสายใยรักและความผูกพัน ที่นี่ยังคงมีเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ

“การใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านเด็กโสสะและสิ่งที่จะต้องทำก็คือ การตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และทำหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายจากคุณแม่โสสะ เพราะนี่คือรากกฐานอันสำคัญเวลาที่เราต้องออกไปอยู่ในสังคมภายนอก”

“การเป็นลูกโสสะ ในบางครั้งก็มีความรู้สึกยุ่งยากในจิตใจบ้างเหมือนกัน อย่างเช่น บางทีถ้าเราออกไปข้างนอกแล้วอยากกินขนมที่มันแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่เคยกินมาก่อนเราก็อยากกินบ้าง แต่ด้วยเงินเราไม่มี จะต่างจากเด็กที่เขามีครอบครัวจริงๆ ที่เมื่ออยากกินอะไรคุณพ่อ คุณแม่จะซื้อให้กินเลย หรืออยากได้อะไรก็จะได้เลย แต่เราไม่ ในบางทีเราต้องเก็บเงินค่าขนมเอาเองนานหลายวัน หรือไม่ก็จนหายอยากกินมันไปแล้ว”

“อย่างไรความยุ่งยากนี้ก็อยู่แค่เพียงครู่เดียวเท่านั้น เพราะชีวิตจริงเรายังมีอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ และเมื่อไรที่เรามัวแต่ยืนมองคนที่เขามีมากกว่า ก็รังแต่จะเป็นทุกข์ ใจก็ดึงกลับมาและบอกว่า ได้เท่านี้ชีวิตก็ดีกว่าใครอีกตั้งหลายคนที่เขาลำบาก”

ปัจจุบันไข่มุกสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สาขาวิทยาศาสตร์โพลีเมอร์ และเธอได้ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในหาดใหญ่ สงขลา โดยทำหน้าที่ทดสอบศักยภาพของผลิตภัณฑ์ยางพาราในห้องแล็บ ซึ่งสถานที่ทำงานและหอพักที่ออกไปเช่านั้นไม่ได้ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ไข่มุกจึงยังสามารถกลับมาเยี่ยมเยียนแม่และน้องได้อยู่เสมอ

เรื่องราวชีวิตของไข่มุกอาจดูราบเรียบดุจดั่งน้ำที่นิ่งสนิท แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือความมั่นคงภายในจิตใจ การคิดบวกให้กับเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา คำว่าเด็ก “กำพร้า” จึงไม่ได้สร้างปัญหา ให้กับคนหนึ่งคนที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จได้ ...และทุกความสำเร็จที่เกิดขึ้น เนื่องจาก “โอกาส” ที่หลายคนได้ร่วมกันเป็นผู้มอบให้กับเด็กๆ กำพร้ามาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง