ร่วมขับเคลื่อน "ยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก"
กรกฎาคม 26 2567

ร่วมขับเคลื่อน "ยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก"

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิเด็กโสสะฯ ได้ร่วมจัดงานและเข้าร่วมอภิปรายเชิงวิชาการ หัวข้อ “ความก้าวหน้าของประเทศไทยในการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก" โดยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(2)

End all corporal punishment - เครือข่ายสิทธิเด็กร่วมจัดงานยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก

จัดโดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิเช่น นาย สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ นางเธียรทอง ประสานพานิช ผู้อำนวยการกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน รศ.พญ.วนิดา เปาอิทร์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก ดำเนินการเสวนาโดย คุณวาสนา เก้านพรัตน์ ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(2) เพื่อให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็กโดย ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็ก

End all corporal punishment - เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทยเข้ายื่นหนังสืออ้างอิง

หลังจากการประชุมอภิปราย เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย พร้อมด้วยสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคม และมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ เข้ายื่นหนังสือพร้อมข้อมูลอ้างอิงเพื่อสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(2) ที่รัฐสภา โดยมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ‘ท่านปดิพัทธ์ สันติภาดา’ และ ‘นางสาวภัสริน รามวงศ์’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้เกียรติรับข้อเสนอพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการขับเคลื่อนการปกป้องคุ้มครองเด็กและการยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก

End all corporal punishment - ยุติการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็ก

เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ร่วมกับสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงมูลนิธิเด็กโสสะฯ ได้รณรงค์ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(2) เพื่อให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็ก โดยไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็ก  

ทั้งนี้ มูลนิธิเด็กโสสะฯ ทำงานบนพื้นฐานของ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กปี พ.ศ.2546 และนโยบายคุ้มครองเด็กของมูลนิธิเด็กโสสะฯ  เพื่อให้เด็กได้เติบโตขึ้นในครอบครัวทดแทน ที่เปี่ยมด้วยความรักความปลอดภัย และได้รับการให้เกียรติซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของสิทธิเด็ก 

ไม่ดุ ไม่ด่า ไม่ตี เด็กก็ดีได้ ใช้วินัยเชิงบวก ยุติการลงโทษทางกาย-ใจ ในบ้าน โรงเรียน และทุกสถานที่