มูลนิธิเด็กโสสะ-หยุด! ทำร้ายลูก ด้วยการเปรียบเทียบ banner
กันยายน 16 2565

หยุด! ทำร้ายลูก ด้วยการเปรียบเทียบ – เข้าใจผลกระทบ และเลี้ยงลูกอย่างเห็นคุณค่าในตัวเขา

การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นอาจดูเหมือนเป็นคำพูดเล็กน้อยที่ไม่ตั้งใจ แต่ความจริงแล้ว สิ่งนี้สามารถกลายเป็นแผลลึกในใจลูกได้โดยไม่รู้ตัว มาทำความเข้าใจว่าทำไมเราจึงควร “หยุดเปรียบเทียบ” แล้วเริ่มเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจและเห็นคุณค่าในแบบที่เขาเป็น

พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกเป็นคนเก่ง เป็นเด็กดี และมีความสามารถ แต่ในความเป็นจริง เด็กแต่ละคนมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว แม้จะอยู่ในบ้านเดียวกัน เรียนที่เดียวกัน หรือเติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ก็ไม่สามารถเหมือนกันได้ทุกด้าน

การเปรียบเทียบ จึงกลายเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่หลายคนทำโดยไม่รู้ตัว เพราะมีความคาดหวัง หรืออยากให้ลูกรู้จักพัฒนา แต่คำพูดเหล่านั้นอาจกลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจลูกโดยไม่ตั้งใจ

ทำไมพ่อแม่ถึงมักเปรียบเทียบลูก?

1. เพราะความคาดหวัง

พ่อแม่หลายคนเผลอพูดเปรียบเทียบด้วยความหวังดี เช่น

  • “ดูน้องเอสิ ตั้งใจเรียนจนได้คะแนนเต็ม”
  • “น้องบีข้างบ้านได้รางวัลวิชาการ ลองเอาอย่างเขาดูสิ”

2. เพราะอยากให้ลูกมีต้นแบบ

การยกตัวอย่างเด็กคนอื่นให้ลูกดูเป็นเพียงเจตนาดี เช่น

“น้องเขาเด็กกว่าลูกยังยิ้มแย้มกับผู้ใหญ่เลย ทำไมลูกถึงไม่ทำแบบน้องบ้าง ผู้ใหญ่เขาจะได้เอ็นดู”

3. เพราะอารมณ์โกรธและผิดหวัง

เวลาที่พ่อแม่อารมณ์เสีย จะควบคุมถ้อยคำได้ยากขึ้น เช่น

  • “ทำไมทำอะไรก็ไม่ได้ดีเหมือนพี่ชาย”
  • “หัดทำตัวดีๆ แบบน้องบ้างสิ”
  • “ตั้งใจเรียนเพื่อนบ้างสิ จะได้ไม่แย่แบบนี้”

แต่คำพูดที่ฟังดูเหมือนไม่รุนแรงเหล่านี้ อาจส่งผลทางลบยาวนานเกินคาด พ่อแม่ควรทำการระงับความโกรธก่อนทำร้ายลูกอย่างไม่ตั้งใจ

do-not-compare-your-kids - มูลนิธิเด็กโสสะ หยุดทำร้ายลูก ด้วยการเปรียบเทียบ-ผลกระทบ

ผลกระทบจากการเปรียบเทียบลูก

1. ลดความมั่นใจ และความเคารพในตนเอง

เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่เก่ง ไม่ดีเท่าคนอื่น

2. กลายเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม

การเปรียบเทียบทำให้รู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ดีพอ” อยู่เสมอ

3. ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัว

ลูกอาจรู้สึกกดดัน อิจฉาริษยา หรือห่างเหินกับพ่อแม่และพี่น้อง

4. แสดงพฤติกรรมต่อต้าน

เมื่อความน้อยใจสะสม เด็กบางคนอาจประชด หยิ่งยโส หรือเลือกทำตรงข้ามกับที่พ่อแม่ต้องการ

คำพูดเปรียบเทียบ = การบูลลี่ทางจิตใจ
ไม่ต่างจากการทำร้ายลูกด้วยคำพูดที่ ละเมิดสิทธิเด็ก ด้านวาจาและอารมณ์
 

แล้วควรทำอย่างไร? เมื่อไม่อยากเปรียบเทียบลูกอีก

พูดสิ่งที่อยากให้ลูกทำ “อย่างชัดเจน”

❌ “ตั้งใจเรียนเหมือนพี่บ้าง”
✅ “ถ้าลูกแบ่งเวลาเรียนกับเล่นได้ดีขึ้น แม่เชื่อว่าคะแนนจะดีขึ้นแน่เลย”

โฟกัสที่ข้อดีของลูก

ลูกทุกคนมีจุดแข็งในแบบของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนใคร

เช่น อาจไม่เก่งวิชาการ แต่ชอบศิลปะ กีฬา หรือช่วยงานบ้านเก่ง ก็เป็นเรื่องที่ควรชื่นชม

ชื่นชมแม้เพียงเรื่องเล็กน้อย

คำว่า “เก่งมาก” “แม่ภูมิใจนะ” มีพลังบวกมากกว่าที่คิด และส่งผลต่อการพัฒนา Self-esteem ในระยะยาว

ให้กำลังใจเวลาที่ลูกพลาด

แทนที่จะตำหนิ ลองหาคำพูดที่สร้างแรงใจและสนับสนุนให้ลุกขึ้นใหม่ เช่น

“แม่รู้ว่าลูกพยายามแล้วนะ ไม่เป็นไร ครั้งหน้าค่อยลองใหม่อีกที”

เข้าใจอัตลักษณ์ของเด็ก – ไม่เปรียบเทียบกัน

มูลนิธิเด็กโสสะฯ เราให้ความสำคัญกับ “ความต่าง” ของเด็กแต่ละคน เด็กๆ ที่นี่แม้จะเติบโตในบ้านเดียวกัน ภายใต้การดูแลของคุณแม่โสสะ แต่ทุกคนได้รับความเข้าใจ การสนับสนุนตามศักยภาพเฉพาะตัว โดยไม่มีการเปรียบเทียบหรือแบ่งแยก

เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีคุณค่าในแบบของตัวเอง
และสามารถเติบโตเป็นคนดี มีทัศนคติที่ดีต่อสังคมได้ไม่แพ้ใคร

ตัวอย่างความสำเร็จของลูกโสสะฯ

แก้ม ปัญญ์วณิชยา ฤทธิ์ยืนยง หนึ่งในความสำเร็จจากหมู่บ้านเด็กโสสะเชียงราย - sosthailand-nong-gam-success-stories-chiangrai

“เท่าที่จำความได้ เริ่มแรกที่เข้ามาในหมู่บ้าน รู้สึกว่าการเริ่มต้นอะไรสักอย่างมักจะมีความกลัวเสมอ แต่การที่ได้รับการสนับสนุนจากรอบข้างทำให้หนูมีวันนี้ หนูมีความมั่นใจมากขึ้นๆ หนูขอขอบคุณทุกคนที่คอยสนับสนุนไม่ว่าอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคำชี้แนะ การอบรมสั่งสอนหรือแม้จะเป็นแค่คำชมเล็ก ๆ ที่คอยผลักดันหนูให้ประสบความสำเร็จ”

แก้ม ปัญญ์วณิชยา ฤทธิ์ยืนยง
หนึ่งในความสำเร็จ จากหมู่บ้านเด็กโสสะเชียงราย
จบการศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

หมวย พลอยไพริล ภูมิสุทธาผล หนึ่งในความสำเร็จจากหมู่บ้านเด็กโสสะภูเก็ต - sosthailand-Ploypailin-success-stories-phuket

“หนูไม่เคยอายที่จะบอกใครๆ ว่าหนูเป็นเด็กมูลนิธิฯ เพราะที่นี่คือบ้าน คือทุกอย่างสำหรับเรา ที่นี่เราได้มีแม่ ผู้ซึ่งต่อให้เราเดินออกมาจากที่นั่นแล้ว แต่แม่ก็ยังเป็นแม่ของเราอยู่ พี่น้องในบ้าน คุณน้าคุณอาทุกคนในหมู่บ้านก็เช่นกัน ทุกคนคือคนในครอบครัวที่หนูมี”

หมวย พลอยไพริล ภูมิสุทธาผล
หนึ่งในความสำเร็จ จากหมู่บ้านเด็กโสสะภูเก็ต
จบจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม

สรุป

หยุดเปรียบเทียบลูก” ไม่ได้แปลว่าไม่คาดหวัง แต่คือการเปลี่ยนความคาดหวังเป็น “การเข้าใจ” และเปลี่ยนคำพูดที่อาจทำร้ายใจลูกเป็นกำลังใจที่พาเขาเติบโตในแบบที่เขาเป็นได้ดีที่สุดค่ะ


อ้างอิง
Thaichildrights
Passeducation

Copyright © All Right Reserved