“ความแตกต่าง ไม่ใช่เรื่องตลก” คำพูดล้อเล่นที่ไม่ขำของ LGBTQ+

มูลนิธิเด็กโสสะ-“ความแตกต่าง ไม่ใช่เรื่องตลก” คำพูดล้อเล่นที่ไม่ขำของ LGBTQ+ banner

สังคมไทยโดยเฉพาะผู้ใหญ่ เรามักเคยชินกับคำพูดล้อเล่นขำๆ หรือการหยอกล้อเพียงเพราะแค่สนุกหรือเอ็นดู โดยที่บางครั้งกลับไม่ได้นึกถึงจิตใจของผู้รับฟังว่าเขาสนุกกับเราด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะการหยอกล้อเรื่องรูปลักษณ์ รสนิยม และการแสดงออกที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่ม LGBTQ มีแนวโน้มที่จะถูกล้อมากกว่าปกติ

แม้ในปัจจุบัน สังคมไทยจะเปิดกว้างเรื่องทัศนคติทางเพศ และตระหนักเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง ล้อเลียน Bully มากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีทัศนคติของคำที่ว่า “แค่ล้อเล่นขำๆ” อยู่อีกมาก ซึ่งหากไม่เกิดการตระหนักรู้ตัว จากล้อเล่นขำๆ อาจกลายเป็นการ “คุกคาม” ได้

โดยเฉพาะในวัยเด็ก ที่อยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้เพื่อเติบโต การถูกหยอกล้อหรือล้อเลียนด้วยถ้อยคำที่กระทบจิตใจ ไม่ว่าจากเพื่อนด้วยกันเอง ครู พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือสังคมออนไลน์ (Cyber Bullying) อาจนำไปสู่การสร้างปมด้อย และภาวะซึมเศร้าได้

เด็ก LGBTQ+ กับคำพูดล้อเล่นที่ไม่ขำ

เรามักคุ้นเคยกับภาพจำที่ว่าชาว LGBTQ+ เป็นคนตลก สนุกสนาน ร่าเริง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเป็นเช่นนั้น และไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องเป็น “ตัวตลก” ที่พร้อมรับทุกคำล้อ โดยเฉพาะเด็ก ที่อยู่ในวัยเปราะบาง แม้ผู้พูดเจตนาพูดด้วยความเอ็นดู หยอกล้อขำๆ แต่คำพูดเหล่านั้นอาจสร้างปมในใจให้กับเด็กโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นคำพูดจากพ่อแม่ หรือคุณครู ที่ควรให้ความใส่ใจและเข้าใจเด็กมากที่สุด

“ตุ๊ด, กระเทยหัวโปก, กะเทยควาย, เป็นทอมก็ถอดเสื้อได้สิ, ขอจับงูหน่อย, หน้าตาก็ดีทำไมเป็นตุ๊ด/ทอม, ทำตัวตลก, ผิดปกติ, ประหลาด, เป็นใช่ปะ? ,  ตีฉิ่ง, ฟ้าเหลือง”  ฯลฯ เส้นกั้นบางๆ ระหว่างการล้อเล่นกับบูลลี่หรือคุกคาม อาจสร้าง “บาดแผลในใจ” ให้กับเด็กได้

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ร่วมกับ องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ไม่เคยถูกรังแกเลย เราจะพบว่า นักเรียนที่ถูกรังแกเพราะรักเพศเดียวกัน หรือมีบุคลิกข้ามเพศ จะได้รับผลกระทบสูงกว่า การวิจัยพบว่า 23% ของ HBT Bullying* มีภาวะซึมเศร้า ในขณะที่นักเรียนที่ไม่ถูกรังแกเลย มีภาวะดังกล่าวเพียงแค่ 6% และเกือบ 7% ของนักเรียนที่ถูกรังแกเพราะเพศสภาพ หรือ HBT Bullying เคยพยายามฆ่าตัวตายในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่คนที่ถูกรังแกด้วยเหตุผลอื่น มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ 3.6% และผู้ที่ไม่เคยถูกรังแกเลย มีอัตราดังกล่าวเพียง 1.2% เท่านั้น

*Homophobia, Biphobia และ Transphobia คือคำเรียกกลุ่มคนที่เกลียดกลัวหรือมีอคติกับผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากเกณฑ์ของสังคม จนเป็นที่มาของพฤติกรรม HBT Bullying หรือการบูลลี่อย่างจงเกลียดจงชังชาว LGBTQ+

มูลนิธิเด็กโสสะ “ความแตกต่าง ไม่ใช่เรื่องตลก” คำพูดล้อเล่นที่ไม่ขำของ LGBTQ+ -infographic

ปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรม สร้างภูมิต้านทานให้เด็ก

  • อย่าให้การล้อเล่นที่ไม่ขำ กลายเป็น “เรื่องปกติ”

“แค่ล้อเล่นขำๆ เรื่องปกติเอง” ผู้ใหญ่หลายคนมักเคยชินกับทัศนคติเหล่านี้ เมื่อเห็นเด็กๆ ล้อเลียนหยอกล้อกัน ก็มักจะมองว่าเล่นกันประสาเด็กเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่บางครั้งการกระทำเหล่านั้นอาจเข่าข่าย “ความรุนแรงทางวาจา” หรือ “การบูลลี่ (Bully)” นอกจากจะสร้างบาดแผลให้เด็กที่โดนล้อ ยังเป็นการส่งเสริมความเคยชิน ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะติดนิสัยการล้อเลียนผู้อื่นได้ในอนาคต

พึงตระหนักไว้เสมอว่าการล้อเล่น ล้อเลียน หรือบูลลี่ ที่ก่อให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งด้านความปลอดภัย สุขภาพ ศักดิ์ศรี และอิสระจากการเลือกปฏิบัติ ซึ่งทุกคนควรได้รับสิทธิเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน
 

  • อย่าใช้ข้ออ้างว่า “รักหรือเอ็นดู”

การหัวเราะ แหย่เด็ก แม้จะทำด้วยความเอ็นดู แต่หากเด็กรู้สึกไม่ชอบก็ไม่ควรทำ ผู้ใหญ่ควรตระหนักไว้เสมอว่า “เราอาจจะสนุก น่ารัก เอ็นดู แต่เด็กที่ถูกล้อ/แซว อาจไม่ได้สนุกด้วย” พ่อแม่ควรคอยสังเกตพฤติกรรมลูก เป็นตัวอย่างที่ดี และปกป้องลูกจากการถูกหยอกล้อ

แม้ในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถทำให้การหยอกล้อหายไปได้ เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่ได้เจตนาและรู้สึกเอ็นดูจริงๆ แต่หากสังเกตเห็นว่าเด็กรู้สึกไม่ชอบหรือไม่สบายใจ ควรขอโทษและระมัดระวังมากขึ้น พูดคุยกับเขาอย่างจริงใจถึงสิ่งที่เขารู้สึก ใช้การปลอบโยนเพื่อสร้างความสบายใจแก่กัน
 

  • สอนเด็กให้มี Self-Esteem เพื่อปกป้องตนเอง

สร้างให้เด็ก เห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับตนเอง โดยพื้นฐานที่ดีที่สุดต้องเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว พ่อแม่ยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น สอนให้เขารับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า สนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกกล้าแสดงความคิดเห็น ทำในสิ่งที่อยากทำ สอนด้วยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ ที่สำคัญพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วยเช่นกัน
 

  • ให้เกียรติตนเองและผู้อื่น

เริ่มต้นจากพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ ปรับทัศนคติและพฤติกรรมเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่หยอกล้อ ล้อเล่น หรือล้อเลียนความแตกต่างของผู้อื่น และสอนให้ลูกหลานรู้จักเคารพและให้เกียรติทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่ล้อเลียนหรือใช้ความแตกต่างของผู้อื่นนำมาเป็นเรื่องตลก ไม่ว่าจะเป็นเพศ รูปร่าง หรือรสนิยม


คำล้อเล่น ล้อเลียน คุกคาม ไม่ว่าจะด้วยวาจา ข้อความ หรือการกระทำ ควรได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกันในทุกเพศ เราไม่เพียงเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQ+ เท่านั้น แต่ไม่ว่าเพศใดก็ควรได้รับความเคารพซึ่งกันและกัน

 
 

อ่าน บทความที่น่าสนใจ

 

อ้างอิง
thepotential
thaipbs

thairath

Copyright © All Right Reserved