![sosthailand-buddhist-lent-day-โสสะ-เข้าพรรษา]()
วันเข้าพรรษา เป็นพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยบัญญัติไว้ คือ พระสงฆ์ต้องเข้าจำพรรษา พักอาศัยประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เรียกว่า ครบไตรมาส
ประวัติความเป็นมา วันเข้าพรรษา
ในอดีตกาล พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากขึ้นที่พากันเดินทางเพื่อเผยแผ่พระธรรม กระทั่งช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูกพืชผล ก็ยังพากันจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำต้นกล้าข้าวและพืชผลให้เกิดความเสียหาย ชาวบ้านจึงพากันติเตียน เมื่อทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในที่แห่งเดียวตลอด 3 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเสียหายต่อพืชผลของชาวบ้าน รวมถึงจะได้ใช้เวลาเพื่อศึกษาพระธรรม ปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ แต่หากมีกิจธุระอันชอบด้วยพระวินัย ก็สามารถไปได้ด้วยการทำ สัตตาหกรณียะ คือ ต้องเดินทางและกลับมาที่พักเดิมภายใน 7 วัน
![sosthailand-buddhist-lent-day-โสสะ-เข้าพรรษา-สวดมนต์]()
(เด็กๆ สวดมนต์ ทำสมาธิในยามเย็น)
กิจกรรมช่วงเข้าพรรษา
เทศกาลเข้าพรรษานั้นถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษสำหรับพุทธศาสนิกชน ที่จะยึดถือเป็นโอกาสอันดีในการบำเพ็ญกุศล ร่วมกันทำบุญ รักษาศีล ตั้งมั่นเพื่อปฏิบัติดี นอกจากมียังมีกิจกรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นประเพณีอีกด้วย
1. ถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัยไทยธรรม
โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่เหมาะสม นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย ผ้าวัสสิกสาฏก หรือผ้าอาบน้ำฝน ให้แก่พระสงฆ์ใช้ได้ทันก่อนช่วงจำพรรษา ต่อมา พุทธศาสนิกชนจึงถือโอกาสบำเพ็ญกุศลด้วยการจัดหาผ้าอาบน้ำฝนมาถวาย เพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องลำบากในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน จนเป็นประเพณีสำคัญมาจนปัจจุบัน รวมไปถึงการถวายเครื่องจตุปัจจัย ของใช้จำเป็นอีกด้วย
2. ถวายเทียนพรรษา
ในอดีตกาล เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษาจะมีการถวายเทียนเพื่อให้พระสงฆ์เพื่อจุดบูชาตามอาราม ใช้สวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า-เย็น และใช้เพื่อให้แสงสว่างในการอ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การหล่อเทียนพรรษา กลายเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันทำบุญ เพื่อร่วมหล่อเทียนแท่งใหญ่แล้วแห่ไปตั้งในอุโบสถ ด้วยความเชื่อที่ว่าการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะได้รับอานิสงส์ช่วยเพิ่มพูนสติปัญญา
หลายพื้นในประเทศไทยเอง เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจะมีการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอย่างเอิกเกริก มีการแสดงมหรสพรื่นเริงสนุกสนาน และการแกะสลักลวดลายเทียนอย่างสวยงามตระการตา
3. ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล
ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนจะนิยมไปวัด ถวายทาน ฟังธรรมเพื่อเจริญจิตภาวนา รักษาศีล ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ นอกจากนี้หลายคนยังถือเป็นโอกาสอันดีในการละเว้นจากอบายมุข เพื่อละจากบาปทั้งปวง
4. ทำบุญทำทาน สร้างกุศล
นอกจากการทำบุญตามประเพณี การทำทานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้ หรือขาดโอกาสในสังคม ยังเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่เราได้มอบให้กับผู้อื่น โดยปัจจุบัน นอกจากการทำบุญที่วัดยังมีอีกหลายสถานที่ให้เราสามารถร่วมทำบุญออนไลน์ได้ด้วย
![sosthailand-buddhist-lent-day-โสสะ-เข้าพรรษา-ทราย]()
(น้องๆ เยาวชนจิตอาสา ช่วยซ่อมแซมพื้นลานวัด)
นอกจากการดูแลเด็กๆ ให้เติบโตอย่างแข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้ว มูลนิธิเด็กโสสะฯ ยังให้ความสำคัญกับการสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย การปฏิบัติตนภายใต้หลักธรรมคำสอนอันดีงามของทุกศาสนา การมีจิตสาธารณะ เสียสละ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยทำนุบำรุงพระศาสนา เพื่อให้เด็กทุกคนได้เติบใหญ่เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อสังคมของเราต่อไป
ร่วมทำบุญออนไลน์ช่วยเหลือเด็กกำพร้าและด้อยโอกาส
มอบอนาคตที่สดใสให้กับเด็กๆ ผ่านการทำบุญออนไลน์ ทางธนาคารทีเอ็มบีธนชาต(TTB) บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 1711021871
![sosthailand-buddhist-lent-day-โสสะ-เข้าพรรษา-QR-code-ttb-e-donation]()
ครอบครัวโสสะขออนุโมทนาบุญ ให้ทุกท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญ ขอบุญกุศลน้อมนำให้การงานก้าวหน้า ผ่านพ้นทุกอุปสรรคในชีวิต มีแต่ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุน เฉกเช่นโอกาสอันเป็นดั่งแสงสว่างที่ท่านได้มอบให้กับเด็กๆ ทุกคนค่ะ
อ้างอิง
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
วันเข้าพรรษา