
เรื่องการเงิน ยิ่งเรียนรู้ไว ยิ่งวางแผนชีวิตได้ไวนะคะ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ แต่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง สามารถสอนเรื่องการเงินให้กับลูกได้ตั้งแต่ 3 ขวบ! (อ่านแนวทาง สอนการเงินลูกตามช่วงวัย รู้ไว้ใช้เป็น) นอกจากที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวเพื่อสอนให้ลูกได้เรียนรู้วิธีการบริหารเงินตามช่วงวัยแล้ว ครอบครัวโสสะขอนำเสนอ 4 แนวทางซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมเพื่อนำไปใช้ประยุกต์สอนเด็กๆ เรื่องการบริหารเงินได้มากยิ่งขึ้นค่ะ

4 แนวทาง สอนลูกบริหารเงินเพื่ออนาคต
ก่อนจะเริ่มสอนลูกน้อย สิ่งสำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน เพราะเด็กจะเรียนรู้ซึมซับต้นแบบมาจากลักษณะนิสัยและทัศนคติจากพ่อแม่ ดังนั้น พฤติกรรมการใช้เงินของพ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างลักษณะนิสัยการใช้เงินให้กับลูกค่ะ
1. ออมได้
นิสัยการออมสร้างได้ตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อลูกเริ่มได้รับค่าขนมแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้รู้จักที่มาและคุณค่าของเงิน รู้จักวางแผนเพื่อเหลือเก็บออม โดยอาจจะเริ่มด้วยการตั้งเป้าหมายว่าออมเพื่อนำไปใช้ทำอะไร และสร้างแรงดึงดูดใจให้ลูกอยากออมเงิน เช่น การทำภารกิจต่างๆ เพื่อรับเงินออม, หากออมได้ครบ 10 วันจะเพิ่มเงินหรือซื้อขนมให้ เป็นต้น และอย่าลืมเชยชมหรือให้กระปุกออมสินเป็นสิ่งล้ำค่าที่ช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขาด้วยนะคะ
2. เข้าใจ
ให้ลูกได้รู้จักที่มาของเงิน สร้างความเข้าใจว่ากว่าจะได้เงินมาแลกสิ่งที่ต้องการนั้นต้องเกิดจากการทำงาน เพื่อให้เขาได้ตระหนักถึงคุณค่าก่อนการใช้จ่ายเสมอ ปลูกฝังนิสัยคิดก่อนใช้ ลดการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัวที่อาจเกิดเป็นปัญหาหนี้สินตามมาในอนาคต เช่น ให้ลูกช่วยทำงานบ้านเพื่อรับเงินตอบแทนเป็นค่าแรง, ให้ลูกลองขายของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหารายได้ เป็นต้น

ซึ่งการให้ลูกได้ลองทำงานหรือหารายได้ด้วยวิธีต่างๆ นอกจากเขาจะได้ประสบการณ์แล้ว ยังช่วยให้ค้นพบความสนใจและทักษะที่อาจนำไปต่อยอดสู่การศึกษาเพื่อประกอบอาชีพในอนาคต
3. ใช้เป็น
สอนให้ลูกรู้จักคิดและพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่าง "สิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็น" โดยให้เขาได้ลองบริหารเงินด้วยตนเองว่าในงบประมาณที่ได้รับจะเลือกนำไปซื้อและเหลือเก็บได้เท่าไหร่ ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ไหม โดยอาจตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ทำไมถึงอยากได้ของชิ้นนี้?" "ซื้อแล้วจะนำไปทำอะไร?" "คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปไหม?" ให้เขาได้คิดและจัดลำดับความสำคัญเพื่อบริหารการเงินของตนเองอย่างเหมาะสม
เด็กบางคนอาจมีสิ่งของที่ต้องการซึ่งมีราคาสูง แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะห้ามหรือบังคับตัดบท ควรเปลี่ยนเป็นให้ลูกได้ลองบริหารเงินด้วยตนเองเพื่อเก็บออมเงินส่วนนี้ให้ถึงเป้าหมาย ขณะที่เขาใช้เวลาเก็บออมเงินก็จะได้คิดไตร่ตรองความต้องการอีกครั้ง เมื่อถึงเวลาที่ทำได้สำเร็จ สิ่งนี้จะกลายเป็นความภาคภูมิใจและเป็นประสบการณ์อันดีค่ะ
4. งอกเงย
ปัจจุบันเรามีช่องทางการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้นแต่เด็กหลายคนต่างให้ความสนใจกับการลงทุนมากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกศึกษาเรียนรู้ได้ตั้งแต่ยังเด็ก เพื่ออธิบายถึงปัจจัยและความเสี่ยงต่างๆ ให้ลูกได้คิดวิเคราะห์เพื่อเลือกตัดสินใจโดยมีพ่อแม่คอยให้คำแนะนำ เช่น การลงทุนในบัญชีเงินออมเพื่อรับดอกเบี้ย การลงทุนผ่านกองทุนรวม หุ้น ทองคำ ซึ่งจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามลำดับ
แต่การลงทุนนั้นก็เป็นความสามารถและความสนใจเฉพาะตัวของแต่ละครอบครัวค่ะ เพราะแต่คนต่างมีวิธีในการทำงานที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการฝึกนิสัยให้ลูกมีวินัยทางการเงิน รู้จักใช้แล้วต้องรู้จักหาด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในระยะยาวค่ะ

สร้างโอกาสให้ตนเอง และแบ่งปันกลับคืนสู่สังคม
นอกจากการสอนลูกบริหารเงินด้านต่างๆ แล้ว อย่าลืมสอนให้เขาเป็นคนที่มีคุณธรรม มีจิตเมตตาแบ่งปันซึ่งกันและกันค่ะ ซึ่งหากเราพอจะมีกำลังทรัพย์ที่ไม่ลำบาก การบริจาคเพื่อแบ่งปันก็นับเป็นบุญอย่างหนึ่งที่ได้ช่วยมอบชีวิตให้กับคนที่ขาดโอกาสต่อไป เช่น การบริจาคสิ่งของหรือทุนทรัพย์ให้ผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือเด็กกำพร้า แบ่งปันเพื่อช่วยเหลือสังคม ฯลฯ เพื่อปลูกฝังความมีน้ำใจ การไม่ยึดติดกับทรัพย์สินมากจนเกินไป รู้จักและเข้าใจคุณค่าของเงินอย่างแท้จริงค่ะ
![SOSThailand-QRCode-TTB-eDonation-08]()
ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต
เลขบัญชี 1711021871
อ้างอิง
Krungsri
SCB
True ปลูกปัญญา