Volunteer care for the elderly

พื้นที่สร้างสรรค์ของต้นกล้าความดี

“ป้าหมีคะ  ป้าหมีคะ เสร็จแล้วหรือยังคะ พวกหนูรออยู่หน้าบ้านแล้วนะคะ ” 

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ กลุ่มหนึ่งประมาณ 3-5 คนดังมาแต่ไกลในตอนเช้าๆ ของทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เป็นเสียงที่ชาวบ้านละแวกนั้นคุ้นชินเป็นอย่างดี เพราะนั่นเป็นเสียงของ “แกนนำอาสาสมัครเยาว์วัยใส่ใจผู้สูงอายุ หรือ อผส.” ที่กำลังจะลงเยี่ยมบ้านบ้านผู้สูงอายุ/ผู้พิการ/ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือที่เรารู้จักกันดีในนาม อสม. ส่วนป้าหมีที่เด็กๆ เรียกนั้น คือ อสม.ผู้ใหญ่ หัวหน้าทีมที่จะพาเด็กๆ ลงเยี่ยมบ้านนั่นเอง  

“แกนนำอผส.น้อย” เป็นผลผลิตที่เกิดจากความร่วมมือกันของ “หมู่บ้านเด็กโสสะเฉลิมนารินทร์ หนองคาย” กับภาคีหน่วยงานภาครัฐ 2 องค์กร ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาฮีและองค์การบริหารส่วนตำบลค่ายบกหวาน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ มีทักษะที่ถูกต้องในการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นการปลูกฝังให้เด็กมีจิตอาสาในการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุที่ขาดผู้ดูแลในชุมชนของตนเอง

น้องปลามมี่ อายุ 10 ปี  หนึ่งในแกนนำ อผส.น้อย ต้นกล้าความดีที่อาศัยการช่วยงานในชุมชนเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของตัวเอง กล่าวว่า 

“หนูเห็นรุ่นพี่เขาทำงานช่วยคนแก่ คนป่วยมาก่อน พอมีข่าวการรับสมัครแกนนำหนูก็ไม่รีรอรีบมาสมัครเลยค่ะ  หนูอยากมีเพื่อนในวันหยุดอยากช่วยงานป้าหมี ช่วยงานคุณหมอและอยากช่วยดูแลคนแก่ คนเฒ่าในหมู่บ้านของหนูค่ะ” 

ปัจจุบัน น้องปลามมี่อาศัยอยู่กับคุณแม่และพี่ชายอีกหนึ่งคน ซึ่งพี่ชายกำลังศึกษาระดับวิทยาลัย ส่วนคุณพ่อได้เสียชีวิตไปเมื่อสองปีก่อนทำให้ภาระความรับผิดชอบในครอบครัวตกไปอยู่ที่คุณแม่เพียงคนเดียว โดยคุณแม่ทำงานรับจ้างเป็นแคดดี้สนามกอล์ฟ รายได้ขึ้นอยู่กับปริมาณลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสนามกอล์ฟในแต่ละวัน คุณแม่ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อทำกับข้าวและขับรถไปส่งพี่ชายของน้องปลามมี่ที่โรงเรียน  หลังเลิกเรียนพี่ชายของน้องปลามมี่ต้องเดินเท้ากลับบ้านเป็นระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร เนื่องจากคุณแม่ยังไม่เลิกงานและไม่มีพาหนะกลับบ้าน ในวันเสาร์และวันอาทิตย์คุณแม่ต้องรบกวนฝากญาติข้างบ้านช่วยดูแลลูกๆ แทน เพราะแม่ต้องทำงานกลับบ้านมืดค่ำ ทำให้พื้นที่ความสุขกับครอบครัวของเด็กๆ ในวัยนี้ลดน้อยลง

แต่เมื่อน้องปลามมี่ได้เข้ามามีบทบาทและทำหน้าที่เป็น อผส.น้อย เราจะสัมผัสถึงความสุขที่น้องปลามมี่ ได้รับโดยผ่านจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะน้องปลามมี่ได้พบกับ “พื้นที่สร้างสรรค์” ของตัวเอง  พื้นที่แห่งการเรียนรู้ พื้นที่แห่งการแบ่งปันการเป็นผู้ให้  พื้นที่แห่งรอยยิ้มที่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยให้คืนกลับมา

และนี่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มูลนิธิเด็กโสสะฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในตัวของเด็กๆ ที่ในวันข้างหน้าพวกเขาเหล่านี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีคุณค่าในการขับเคลื่อนสังคมไทยเราให้น่าอยู่ต่อไป